น.ส.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า เด็กไทยสมัยนี้มีความรู้ในการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้นกว่าเด็กสมัยก่อน อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริม และเชื่อว่าความรู้ในการส่งเสริมให้เด็กๆ มีความรู้และทันสมัย โดยเฉพาะการเข้าสู่ Social network เพราะมีความเชื่อว่า Social network หรือสังคมเครือข่ายนั้น เป็นโลกแห่งความรู้ หากเด็กคนใดที่ไม่มีความรู้ด้านนี้จะเป็นคนไม่ทันสมัย ไม่เก่ง สู้คนอื่นไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่สนับสนุนเด็กๆ เข้าสู่ Social network มากแค่ไหน เด็กๆ จะเริ่มไม่สนใจบุคคลใกล้ตัว แต่จะมีลักษณะนิสัยสนใจบุคคลไกลตัวแทน สนใจเพื่อนที่คุยอยู่ใน Facebook หรือ HI 5 แทน ตลอดถึงการที่ไม่สนใจบุคคลใกล้ตัว หรือบุคคลรอบข้าง ยังส่งผลถึงบุคลิกภาพที่ไม่เคารพ ไม่ใส่ใจ ทำให้เด็กดูเหมือนเป็นคนก้าวร้าว และขาดวินัย ถ้าปล่อยเรื่องเหล่านี้ให้เป็นเรื่องธรรมดา เด็กไทยจะเสพติดสังคมเครือข่ายอย่างหนัก แบบถอนตัวไม่ขึ้น นำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้า เหงา และก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง จึงอยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ควรจะหากิจกรรมให้ลูกหลานทำ โดยเน้นการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับผู้คน และควรสอนให้เด็กรู้ว่า บุคคลที่สำคัญที่สุดสำหรับเราคือบุคคลที่อยู่ตรงหน้าเรา เวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลา ณ ปัจจุบัน และกิจกรรมที่สำคัญที่สุดคือกิจกรรมที่เราได้ลงมือทำจริงในเวลานั้น โดยเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์กับผู้คน