xs
xsm
sm
md
lg

กรมจิต ย้ำ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ช่วยแก้ปัญหาญาติไม่พอใจการรักษาของแพทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“กรมจิต” ย้ำชัด พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ช่วยแก้ปัญหาญาติไม่พอใจวิธีการรักษาผู้ป่วยของแพทย์  ชี้ ขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ระหว่างปรับแก้ กม.ระบุ การแก้ปัญหาต้องเน้นส่งเสริม-ป้องกัน   หลังพบยอดป่วยโรคซึมเศร้าของคนไทยพุ่ง 3 ล้าน เข้ารักษาแค่ 1 ล้าน 
 
          
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของผลการดำเนินงานของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ว่า หลังจากเกิดประเด็นของ นพ.ประกิตเผ่า  ทมทิตชงค์ ที่ถูกนำตัวเข้ารับการรักษา แต่ว่าสุดท้ายมีการแจ้งความร้องทุกข์ ว่า การรักษาเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวนั้น เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ แต่ล่าสุดเมื่อพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ได้มีการเพิ่มเติมในส่วนของสิทธิการส่งรักษาและการอุทธรณ์ต่างๆ ซึ่งได้แก้ปัญหาในจุดนี้ไปได้มาก ขณะที่ประเด็นการอุทธรณ์กรณีไม่พอใจในการรักษา กลับพบว่าช่วงที่ผ่านมาไม่มีการอุทธรณ์แม้แต่รายเดียว เนื่องจากกฎหมายระบุถึงรายละเอียดของการส่งรักษา แนวทางการรักษาต่างๆ รวมไปถึงการรักษาสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้เป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวแต่อย่างใด
          

“แม้การดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลดี แต่ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551  โดยจะเน้นไปที่การกำหนดนโยบาย และมาตรการในการส่งเสริมและป้องกันทางสุขภาพจิต รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต รวมทั้งการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยการปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะมีการประชาพิจารณ์เพื่อลงความคิดเห็นก่อน” นพ.อภิชัย กล่าว
          

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม  สำหรับสถานการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตที่ผ่านมานั้น พบว่า  โรคซึมเศร้าพบบ่อยสุด  โดยพบราว  5 %  ของประชากรไทย ราว  3 ล้านคน แต่ได้รับการรักษาไม่ถึง 1 ล้านคน  เนื่องจากหลายคนมองว่าการพบจิตแพทย์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันเท่านั้น จึงจะสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น