xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภายังไม่ลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน คาดรอฟังนายกฯ แจงก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จำนวน 400,000 ล้านบาท โดยยอมรับว่า คำอภิปรายซึ่งเป็นความเห็นของวุฒิสภา มีอิทธิพลสำคัญต่อการพิจารณาดำเนินการตามร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากร่างรายละเอียดในการกู้เงินในโครงการไทยเข้มแข็ง ล้วนมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของวุฒิสภา ทำให้มีการปรับปรุงระเบียบถึง 2 ครั้ง และย้ำว่า ระเบียบการใช้จ่ายเม็ดเงินตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะรัดกุมและยึดโยงกับพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จากการลงพื้นที่ พบว่าโครงการไทยเข้มแข็งเกิดประโยชน์กับประชาชนในหลายจังหวัดแล้ว และกำลังเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง และส่วนหนึ่งก็สะท้อนออกมาเป็นความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ดังนั้นโครงการไทยเข้มแข็งจึงจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันโครงการการลงทุนมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งได้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงบประมาณแล้ว
ส่วนข้อกังวลว่าอาจเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะโครงการจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขอยืนยันความมั่นใจว่าจะให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า
ทั้งนี้ ด้วยบรรยากาศการอภิปรายที่สมาชิกวุฒิสภาได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับการรับฟังคำชี้แจงของรัฐบาล เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าจำนวน ส.ส.ทั้ง 149 คนที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และยังรอการตัดสินใจ ซึ่งหากหยิบยกการลงมติเห็นชอบพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ฉบับแรก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา คะแนนเห็นชอบอยู่ที่ 69 เสียง ขณะที่คะแนนไม่เห็นชอบอยู่ที่ 48 เสียง และงดออกเสียง 11 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น 124 คน ซึ่งเสียงเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 21 เสียง ขณะที่มติคว่ำพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาสรรพสามิตน้ำมัน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน มีมติไม่เห็นชอบ 58 เสียง และเห็นชอบ 33 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ซึ่งจะเห็นว่าเสียงคัดค้านอยู่ที่ 25 เสียง จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า ส.ว.ที่รอฟังการชี้แจงจากรัฐบาล และลงมติในทางใดทางหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 ขึ้นไป และนี่คือที่มาของตัวเลขที่คณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิ และ ส.ว.กลุ่ม 40 ได้วิเคราะห์และรอผลการลงมติ
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศทางการเมือง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ต่างก็เชื่อมั่นว่าวุฒิสภาส่วนหนึ่งที่รอการตัดสินใจนั้น มีแนวโน้มที่จะลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการเงินให้ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่สำคัญกว่านั้น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยถึงหลักการส่วนตัวที่จะยื่นเรื่องการออกร่างกฎหมายฉบับนี้ของรัฐบาลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ว่าด้วยการออกกฎหมายต้องมีเอกสารประกอบอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับฐานะทางการเงินการคลัง เพราะเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดความชัดเจนและก่อหนี้ให้ประเทศ รวมถึงการดำเนินการที่ไม่มีที่ไปที่มาของการใช้งบฯ เปรียบเสมือนการตีเช็กเปล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรียืนยันกับที่ประชุมวุฒิสภาว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะเข้ามาร่วมประชุมและขอใช้สิทธิ์ชี้แจง ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติ
กำลังโหลดความคิดเห็น