xs
xsm
sm
md
lg

ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์พื้นที่ กทม.ชั้นในพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปัญญา วรเพชรายุทธ ผู้อำนวยการส่วนมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการตรวจวัดสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มขึ้นถึง 10 พีพีเอ็มต่อค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมง ซึ่งเกินมาตรฐานที่ 9 พีพีเอ็มต่อค่าเฉลี่ย 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะในเขตเมืองชั้นใน บริเวณซอยอ่อนนุช และวงเวียนใหญ่
สาเหตุที่มีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเขตเมืองชั้นในเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสันดาปของเครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์ เพราะการขับเคลื่อนรถได้ช้าลง ซึ่งหมายถึงการจราจรติดขัดมากขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมามาก หรือการหันมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากการใช้น้ำมันดีเซล และเบนซิน มาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากปัญหาน้ำมันราคาแพง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เก่าบางรุ่นที่ไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับการปล่อยมลพิษมาใช้ใหม่ ทำให้มีการปล่อยมลพิษในอากาศมากขึ้น
นายปัญญา กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ได้พยายามผลักดันให้กระทรวงพลังงานผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากปกติมีเพียงกรมการขนส่งทางบกเท่านั้นที่เข้ามาดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นหลักเท่านั้น
สำหรับผู้ที่สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะมีอาการมึนงง ปวดศีรษะ หากได้รับในปริมาณมาก ๆ อาจเสียชีวิตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น