xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ สมานฉันท์ เผยพรรคการเมืองส่วนใหญ่หนุนแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมการ วันนี้ ได้เชิญคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะที่ตั้งขึ้นมาประชุมร่วมกัน เพื่อรับทราบผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานผลการศึกษา ว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงกันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ ส.ส. โดยให้ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
ส่วนมาตรา 237 และ 68 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง ได้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง ซึ่งแนวทางของตัวแทนพรรคการเมืองส่วนใหญ่เสนอให้แก้ไข ให้ลงโทษเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิด โดยให้เพิ่มโทษให้หนักขึ้น เช่น ให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี เพิ่มโทษทางอาญา โดยไม่ต้องยุบพรรค ส่วนแนวทางที่ 2 บางพรรคเสนอให้คงมาตรา 237 ไว้ เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง และหากได้ข้อสรุปว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด ให้ทำประชามาติรับฟังความเห็นของประชาชน
ขณะที่นายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการปฏิรูปการเมือง ระบุว่า อนุกรรมการฯ ยังไม่สรุปว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องศึกษาแนวทางในการปฏิรูปการเมืองให้รอบด้านก่อน รวมทั้งเห็นว่าควรมีการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพื่อตั้ง ส.ส.ร.
ด้านนายตวง อันทะไชย ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (20 พ.ค.) จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มสานเสวนาของสถาบันพระปกเกล้า และผู้ที่ขัดแย้งทางสังคม มาเสนอแนะแนวทางสมานฉันท์ ส่วนข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ มี 6 ข้อ คือ ควรลดวิวาทะระหว่างนักการเมืองและกลุ่มต่างๆ รัฐบาลและฝ่ายค้านควรลดเงื่อนไขความขัดแย้ง และส่งสัญญาณไปยังผู้สนับสนุน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ให้สื่อมวลชนช่วยกันเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ และกระบวนการเจรจาผู้ที่ขัดแย้งกัน และผลักดันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ หลังมีกลุ่มต่างๆ มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 รวมทั้งให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น