xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยกว่า 1 ใน 3 ให้ความสำคัญวันมาฆบูชามากกว่าวาเลนไทน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความตั้งใจทำความดีของเด็กและเยาวชนไทยในโอกาสวันมาฆบูชา กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนไทยอายุ 12 - 24 ปี ในเขตกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 2,120 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2552 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพฯ ร้อยละ 44.5 สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่า วันมาฆบูชาในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ร้อยละ 55.5 ไม่ทราบ ส่วนหลักธรรมคำสอนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชาคือหลักธรรมอะไร ร้อยละ 63 ตอบไม่ทราบ มีเพียงร้อยละ 37 ที่ตอบถูกต้องว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โอวาทปาฏิโมกข์
ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจจะทำในวันมาฆบูชา พบว่าเยาวชนมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 62.7 ตั้งใจจะไปทำบุญตักบาตรในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ รองลงมาคือร้อยละ 42.4 ระบุจะไปร่วมพิธีเวียนเทียน ร้อยละ 33.3 ระบุจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวของตน สิ่งที่ตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกในวันมาฆบูชานั้น พบว่า ร้อยละ 49.6 ตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมึนเมาทุกชนิด/ไม่สูบบุหรี่ รองลงมาคือร้อยละ 48.4 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกประเภท/การทำความชั่วทุกอย่าง ร้อยละ 15.5 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิก ความขี้เกียจ/ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ ร้อยละ 12.0 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการพูดโกหก ร้อยละ 10.8 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการพูดจาหยาบคาย
ส่วนกรณีการให้ความสำคัญระหว่างวันมาฆบูชา กับวันวาเลนไทน์นั้น ผลสำรวจพบว่า เยาวชนเกินกว่า 1 ใน 3 คือร้อยละ 36.1 ระบุว่าให้ความสำคัญ วันมาฆบูชา มากกว่า ในขณะนี้ร้อยละ 23.5 ระบุให้ความสำคัญเท่ากัน มีเพียงร้อยละ 8.8 เท่านั้นที่ระบุว่าให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่า
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา ร้อยละ 55.3 ระบุต้องการให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อาทิ การจัดแสดงธรรม การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ให้มากขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 28.3 ระบุส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้จัดกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน อาทิ การร่วมทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ร้อยละ 20.3 ระบุส่งเสริมให้เยาวชนเข้าวัดฟังเทศน์ /ให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาให้มากขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้น่าจะเป็นการยืนยันได้ว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังมีจิตใจใฝ่ทำความดี ละเว้นความชั่วตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชา เพียงแต่ว่าการรับรู้ต่อวันสำคัญทางศาสนาอยู่ในกลุ่มจำกัด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ กลุ่มผู้ใหญ่ในสังคมระดับชุมชนและระดับประเทศน่าจะใช้โอกาสวันมาฆบูชาปีนี้และทุกๆ วันสร้างการรับรู้และทำให้ความตั้งใจใฝ่ทำความดีของเด็กและเยาวชนบรรลุเป็นพฤติกรรมสร้างสรรค์ที่ดีงามในสังคมให้ได้ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในครรลองครองธรรม ด้วยการจัดสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมของการทำความดีให้เกิดขึ้นรอบตัวเด็กและเยาวชน
กำลังโหลดความคิดเห็น