xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือน ปชช.ระวังยุงก้นปล่อง หลังโรคมาลาเรียแพร่ระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า ในปีนี้ว่าจากการสำรวจช่วงครึ่งปีแรก พบปริมาณผู้ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียลดลง จากปีที่ผ่านมาจาก 33,000 ราย เหลือเพียง 12,000 ราย และอัตราเสียชีวิตมีทั้งหมด 26 ราย จาก 96 ราย โดยพื้นที่บริเวณช่วงรอยต่อของประเทศในทุกภาค เช่น จ.ยะลา นราธิวาส กาญจนบุรี สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จะพบเชื้อไข้มาลาเรียมากที่สุด
ส่วนสาเหตุเกิดจากการเข้าไปเดินป่า และถูกยุงก้นปล่องกัด สำหรับอาการป่วยของผู้ป่วยมาลาเรียหลังถูกยุงก้นปล่องกัดมาระยะ 10-14 วัน หรือประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ให้รีบพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งหน่วยมาลาเรียประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ และมาลาเรียคลินิกอีก 500 แห่ง พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย คือ ป้องกันตัวเองโดยอย่าเข้าไปในพื้นที่ป่า และไม่ให้ยุงกัด หากได้รับเชื้อไข้มาลาเรียแล้ว จำเป็นต้องรักษาให้เชื้อหายขาด รวมถึงการกำจัดพาหะนำโรคโดยการฉีดสารเคมีลดอายุของยุงก้นป่อง พร้อมยอมรับว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการทำลายยุงก้นปล่อง เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการ และไม่มีการวางตำแหน่งใหม่ขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย กำลังฟื้นขึ้นมาอีก จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากรด้านดังกล่าวให้เพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น