xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เข้มเฝ้าระวังป้องกันควบคุม 5 โรคติดต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ควบคุมโรคติดต่อ เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ ที่เน้นเป็นพิเศษ 5 โรคได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดนก โรคมือเท้าปาก และอหิวาห์ตกโรค เนื่องจากมีแนวโน้มเสี่ยงการระบาด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา นักวิชาการจากกรมกองที่เกี่ยวข้อง ประชุมติดตามประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคในรอบ 5 เดือนปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมพบว่า 3 โรคมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วย 5,447 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในเดือนพฤษภาคมมีผู้ป่วย 701 ราย โรคอหิวาห์ตกโรคมีผู้ป่วย 71 ราย เสียชีวิต 2 ราย เดือนพฤษภาคม มีผู้ป่วย 7 ราย และโรคมือเท้าปากพบผู้ป่วย 6,697 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วย 298 ราย โรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้แก่ โรคไข้เลือดออก มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 17,996 ราย เสียชีวิต 16 ราย เดือนพฤษภาคมมีผู้ป่วย 5,481 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนโรคไข้หวัดนก ผลการเฝ้าระวังทั่วประเทศ ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่
สำหรับโรคมือเท้าปากนั้น พบเกิดขึ้นเป็นจุดๆ ยังไม่มีการระบาดในประเทศ มักพบในเด็กอายุ 1-2 ขวบ จากการตรวจวิเคราะห์เชื้อพบเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของโรคนี้ในประเทศเพื่อนบ้านเช่น ที่จีนพบว่ามีการระบาดในเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 2551 มีเด็กป่วย 1,884 ราย เสียชีวิต 20 ราย ตรวจพบเชื้อทั้งชนิดไม่รุนแรง และชนิดรุนแรงคือเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ( Enterovirus 71 ) อาการคือ มีไข้เฉียบพลัน ปอดบวมน้ำ และมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เป็นที่คาดการณ์กันว่า การระบาดจะยังคงดำเนินต่อไป และคาดว่าจะมีผู้ป่วยมากที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2551
นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคมือเท้าปาก ในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่นในประเทศเวียดนาม และสิงคโปร์ ก็ไม่น่าไว้วางใจ กระทรวงสาธารณสุข ไทยได้มีการวางแผนป้องกันโรคนี้ในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานควบคุมป้องกันโรคทุกเขต เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ร่วมเฝ้าระวัง ป้องกันในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ โดยดูแลความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็ก ให้เฝ้าระวังเด็กโดยตรวจเด็กก่อนเข้าห้องเรียน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ถ้าเด็กมีอาการป่วย มีไข้ หรือมีผื่นขึ้นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วๆไป และติดต่อให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน และไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคมือเท้าปาก จะติดต่อโดยทางเสมหะ และการปนเปื้อนของอุจจาระ โดยทั่วไปอาการโรคมือเท้าปาก จะไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการรุนแรง เช่นไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ให้รีบนำเด็กไปโรงพยาบาลทันที และหากมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่สู่เด็กอื่น
สำหรับโรคไข้เลือดออก ที่ประชุมได้เน้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบ้านในโรงเรียน ได้กำชับทุกจังหวัด และแพทย์ทุกคนให้ตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียด ซึ่งขณะนี้แนวโน้มการป่วยโรคนี้พบในเด็กโต และผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หากพบรายใดมีไข้ ไม่มีอาการไอ ขอให้คิดถึงโรคไข้เลือดออกไว้ก่อน และให้การดูแลรักษาตามแนวทางมาตรฐาน และหากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่ใด ให้ส่งหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงไปจัดการพ่นหมอกควันกำจัดยุงตัวแก่ในบ้านและรอบบ้านในรัศมี 50 เมตร ให้ถูกวิธี
กำลังโหลดความคิดเห็น