นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าในช่วงต้นฤดูฝน มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย สัตว์เกิดความเครียดทำให้ร่างกายของสัตว์อ่อนแอลง เจ็บป่วยได้ง่าย และมักเกิดโรคระบาด ส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ปอดบวม และอาจมีโรคท้องอืดในสัตว์ใหญ่ได้ เนื่องจากในช่วงต้นฤดูฝนต้นหญ้าอาหารสัตว์เริ่มแตกใบอ่อน มีรสชาติน่ากิน ทำให้สัตว์กินพืชอาจจะกินหญ้าสดในช่วงนี้มากกว่าปกติ ทำให้ท้องอืดได้ง่าย ควรเตรียมอาหารให้กินอย่างพอเพียง รักษาพื้นคอกให้แห้ง สะอาด มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตรงตามกำหนดเวลา ถ่ายพยาธิเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างน้อยปีละ 1 - 2 ครั้ง เมื่อสัตว์ป่วยต้องแยกสัตว์ออกจากฝูง ให้อยู่ในคอกที่มีโรงเรือนและมีหลังคาสำหรับกันแดดและฝน และให้การดูแลรักษา ส่วนวิธีป้องกันโรคท้องอืด คือ จำกัดพื้นที่ของโค กระบือ ไม่ให้กินหญ้าอ่อนมากเกินไป หรือกักสัตว์ไว้ให้กินหญ้าแห้ง ฟางแห้ง หรือหญ้าสดที่ไม่อ่อนเกินไปจนใกล้อิ่มแล้ว จึงปล่อยออกแทะเล็มในแปลงตามปกติ