xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.ไม่รู้สึกนโยบายลดราคาสินค้า "เจ๊มิ่ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง มองเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมปัจจุบันผ่านหัวหน้าครัวเรือน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนหัวหน้าครัวเรือนที่มีภูมิลำเนาใน 18 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,317 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ หัวหน้าครัวเรือนที่ถูกศึกษาครั้งนี้ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวเศรษฐกิจเป็นประจำทุกสัปดาห์ และเมื่อถามถึงสิ่งที่เห็นจริงในการลดราคาสินค้าอุปโภคในตลาดตามรายการที่รัฐบาลเคยประกาศผ่านสื่อมวลชน พบว่า มีประชาชนประมาณ 1 ใน 3 ระบุยังไม่เห็นลดราคา และประมาณครึ่งหรือร้อยละ 50 ที่ไม่ทราบ มีเพียงร้อยละ 15 - 20 เท่านั้นที่เห็นว่ารายการสินค้าที่รัฐบาลได้ประกาศร่วมกับภาคเอกชนในการลดราคาได้ลดราคาแล้วจริง
นอกจากนี้ หัวหน้าครัวเรือนจำนวนมากหรือร้อยละ 41.1 ระบุว่ารายการสินค้าที่ประกาศลดราคานั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เพียงเล็กน้อยถึงช่วยไม่ได้เลย ในขณะที่ร้อยละ 32.3 ระบุช่วยได้ปานกลาง และร้อยละ 26.6 ระบุช่วยได้มากถึงมากที่สุด และผลสำรวจที่พบเช่นนี้อาจเป็นเพราะรายการสินค้าที่รัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการประกาศลดราคานั้น เป็นสินค้าเฉพาะบางบริษัทหรือบางยี่ห้อของผู้ผลิตเท่านั้น และอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการใช้กันแพร่หลายมากนัก
ดังนั้น หัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.5 เห็นว่าควรมีการลดราคาสินค้าอื่นๆ เพิ่ม เช่น อันดับแรกได้แก่ แก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ร้อยละ 37.8 อันดับ 2. คือ ของสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ร้อยละ 23.3 อันดับสามได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง อาทิ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ขนมปัง ร้อยละ 15.4 อันดับที่สี่ ได้แก่ สินค้าปรุงรส ร้อยละ 6.3 และอันดับที่ห้า ได้แก่ สินค้าสำเร็จรูป เช่น มาม่า อาหารแห้ง ร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ที่เหลือระบุเป็นสินค้าประเภทอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ หัวหน้าครัวเรือนร้อยละ 46.7 ระบุรายได้เท่าเดิม ร้อยละ 40.6 ระบุรายได้ลดลง และเพียงร้อยละ 12.7 ระบุรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ปี 2550 แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.3 ระบุรายจ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 18.3 ระบุรายจ่ายเท่าเดิม และเพียงร้อยละ 7.4 เท่านั้นที่ระบุรายจ่ายลดลง โดยหัวหน้าครัวเรือนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ระบุมีหนี้สิน และประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.8 กำลังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 มองว่าสภาวะเศรษฐกิจระดับประเทศกำลังแย่ลง ร้อยละ 32.5 มองว่ากำลังทรงตัว และมีเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้นที่มองว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังดีขึ้น
เมื่อสอบถามความเชื่อมั่นของหัวหน้าครัวเรือนต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า เมื่อค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่าได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งหรือ 4.33 คะแนน อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบประชาชนระบุการสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาสินค้าราคาสูงโดย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมได้ 5.91 คะแนน และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับบริษัทเอกชน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ในการลดราคาสินค้าให้กับประชาชนรวมได้ 6.85 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 53.6 ระบุ เครือสหพัฒน์ฯ เป็นกลุ่มนายทุนที่หัวหน้าครัวเรือนในการศึกษาครั้งนี้นึกถึงหลังการประกาศลดราคาสินค้า รองลงมาคือ ร้อยละ 33.4 ระบุ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และร้อยละ 31.9 ระบุบริษัทยูนิลีเวอร์ ที่เหลือร้อยละ 18.4 ระบุอื่นๆ เช่น พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล เนสท์เล่ เสริมสุข นอกจากนี้ เมื่อถามถึงห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 นึกถึง โลตัส ร้อยละ 52.9 นึกถึงบิ๊กซี ร้อยละ 23.2 นึกถึง คาร์ฟูร์ ร้อยละ 14.9 นึกถึงเซเว่นฯ ร้อยละ 11.9 ระบุแม็คโคร ที่เหลือร้อยละ 13.8 ระบุอื่นๆ เช่น ท็อป เดอะมอลล์ เซ็นทรัล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น