เอแบคโพลล์เผย “ตรุษจีน” ปีนี้เงินสะพัด 2.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อของเซ่นไหว้ 5.6 พันล้านบาท ค่าอั่งเปาประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าท่องเที่ยวและอื่นๆ 9.3 พันล้านบาท ระบุมีแนวโน้มว่าคนไทยส่วนใหญ่มีแผนจะใช้จ่ายลดลง ไม่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 70
ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตวิทยาลัยด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) และนายจารุบุณณ์ ปาณานนท์ อดีตรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แถลงผลสำรวจเรื่อง ประมาณการวงเงินสะพัดและความตั้งใจจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2551 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีภูมิลำเนาใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,506 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-30 มกราคม พ.ศ.2551
ดร.นพดล ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมฯ กล่าวว่า ผลประมาณการวงเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 28,296,457,063.40 หรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อของเซ่นไหว้เฉลี่ยคนละ 459.33 บาท ประมาณวงเงินสะพัดของเซ่นไหว้ทั่วประเทศจำนวน 5,659,291,412.68 หรือประมาณ 5.6 พันล้านบาท เป็นค่าอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 1,579.43 บาท วงเงินสะพัดค่าอั่งเปาทั่วประเทศประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าท่องเที่ยวและอื่นๆ ช่วงตรุษจีนปีนี้เฉลี่ยคนละ 757.90 บาท วงเงินสะพัดค่าท่องเที่ยวและอื่นๆ ทั่วประเทศประมาณ 9.3 พันล้านบาท
ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า คนไทยเชื้อสายจีนเกินกว่า 1 ใน 4 ระบุแนวโน้มการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนจะลดลง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและอื่นๆ มีตัวอย่างร้อยละ 40.0 ที่ระบุลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับตรุษจีนปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอย่างประชาชนคนไทยทั่วไปของการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 จะไม่ท่องเที่ยวที่ไหนช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ในขณะที่ร้อยละ 21.1 ระบุว่าตั้งใจจะไป โดยในภาคเหนือประชาชนตั้งใจจะไป จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง เป็นต้น ภาคกลางประชาชนตั้งใจจะไป อยุธยา กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม เป็นต้น ภาคตะวันออก ประชาชนตั้งใจจะไปจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี เป็นต้น ภาคอีสาน ประชาชนตั้งใจจะไป นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น หนองคาย ร้อยเอ็ด เป็นต้น ส่วนในภาคใต้ ประชาชนตั้งใจจะไปภูเก็ต สงขลา กระบี่ และพังงา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีนี้ พบว่า ร้อยละ 55.2 จะไม่ไปไหนเลย ในขณะที่จำนวนมาก หรือร้อยละ 45.7 จะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด
ผศ.ดร.จุฑามาศ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตวิทยาลัยด้านการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ตรุษจีนปีนี้มีแนวโน้มว่าคนไทยส่วนใหญ่มีแผนจะใช้จ่ายลดลง ไม่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 70 ดังนั้น อาจก่อให้เกิดภาวะเงียบเหงา ส่งผลต่อเนื่องถึงช่วงสงกรานต์ แม้นักท่องเที่ยวยังคงมุ่งไปในจังหวัดหลักในแต่ละภาค แต่โดยรวมต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ธุรกิจควรเร่งรับมือ โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นตลาดนักท่องเที่ยวไทย อาจคาดการณ์ได้ว่า การเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นเพียงในระยะทางใกล้ๆ เท่านั้น โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่เพียงประมาณกว่า 700 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นทางออกของธุรกิจท่องเที่ยวไทย
ขณะที่ ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในสินค้าตัวอื่นๆ เมื่อสอบถามถึงสินค้าราคาสูงบางรายการที่ตั้งราคาไว้และถามถึงความสามารถในการซื้อและความสนใจที่จะซื้อหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า บ้านหลังใหม่ที่ประชาชนตั้งราคาไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้านบาท แต่มีประชาชนเพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้นที่มีเงินพอจะซื้อได้ ในขณะที่ร้อยละ 24.2 ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ไม่สนใจจะซื้อ
สำหรับรถยนต์คันใหม่ พบว่า ประชาชนตั้งราคาเฉลี่ยไว้ที่ 7 แสน 8 หมื่นกว่าบาท แต่มีประชาชนเพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้นที่มีเงินพอจะซื้อได้ ในขณะที่ร้อยละ 21.8 ไม่มีเงินพอที่จะซื้อ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ยังไม่สนใจซื้อรถคันใหม่ตอนนี้
สำหรับโทรทัศน์เครื่องใหม่ พบว่า ประชาชนตั้งราคาเฉลี่ยไว้ที่ 1 หมื่น 9 พันกว่าบาท แต่มี ประชาชนเพียงร้อยละ 10.2 ที่มีเงินจะซื้อได้วันนี้ ในขณะที่ ร้อยละ 8.9 ไม่มีเงินมากพอ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 ไม่สนใจจะซื้อ
สำหรับตู้เย็นหลังใหม่ พบว่า ประชาชนตั้งราคาเฉลี่ยไว้ที่ประมาณ 1 หมื่นบาท แต่มีประชาชนเพียงร้อยละ 7.2 ที่มีเงินพอจะซื้อได้ ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินมากพอ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 ไม่สนใจซื้อตู้เย็นหลังใหม่ในตอนนี้
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ผลสำรวจชี้ให้เห็นจำนวนประชาชนในสัดส่วนที่พอๆ กันที่ระบุสถานะการเงินของตนเองอยู่ในสภาวะที่แย่ กับสภาวะที่ดี คือร้อยละ 39.4 ระบุสถานะการเงินขอ ตนเองอยู่ ใน สภาวะที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 39.1 ระบุว่าแย่ และที่เหลือร้อยละ 21.5 ยังประเมินไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความคิดเห็นของประชาชนที่มองภาพสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าเกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 53.9 ระบุสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะที่แย่ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 25.4 ที่มองว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะที่ดี และร้อยละ 20.7 ระบุยังประเมินไม่ได้
ที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนระบุรายได้ครอบครัวเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 53.1 ระบุว่าเท่าเดิม แต่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.0 ระบุว่าลดลง มีเพียงร้อยละ 12.9 เท่านั้นที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น
สำหรับสาเหตุของการที่มีรายได้ลดลง ตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ร้อยละ 37.4 ระบุเป็นเพราะ เศรษฐกิจตกต่ำ รองลงมาคือ ร้อยละ 33.0 ระบุมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ร้อยละ 20.2 ขายของได้ยากขึ้น ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.4 ระบุราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 5.0 เท่านั้นที่ระบุมีราคาเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 4.9 ระบุราคาถูกลง ที่เหลือร้อยละ 3.7 ระบุไม่ทราบและเมื่อถามถึงผลการประเมินความพอใจโดยรวมต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่เรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัว พบว่า ร้อยละ 49.3 ไม่พอใจ มีเพียงร้อยละ 27.3 ที่พอใจ และร้อยละ 23.4 ยังประเมินไม่ได้
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจครั้งนี้น่าจะสะท้อนให้รัฐบาลชุดใหม่และธุรกิจกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นภาพว่า ประชาชนที่บอกว่าสถานะการเงินของตนเองอยู่ในขั้นดีถึงดีขึ้นจากปีที่แล้วมีประมาณร้อยละ 40 ในขณะที่ประชาชนที่บอกว่าสถานะการเงินของตนเองอยู่ในขั้นแย่เหมือนเดิมถึงแย่ลง ประมาณร้อยละ 40 เท่ากัน ที่เหลือร้อยละ 20 ยังประเมินไม่ได้ แต่เมื่อพิจารณาสินค้าประเภท บ้าน รถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่สนใจจะซื้อ เพราะยังขาดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และในชีวิตประจำวันประสบกับราคาสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยทั้งที่สถานการเงินยังดีอยู่
ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนทั่วไป ด้วยความรวดเร็วฉับไวในการบรรเทาปัญหาเดือดร้อนของประชาชน เพราะประชาชนคนประมาณครึ่งหนึ่งไม่พอใจต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้านการจับจ่ายใช้สอยของครอบครัวในขณะนี้