ครูบาช่างเทียนและช่างเทียนพรรษาที่คุ้มวัดแจ้ง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ช่วยกันยกหุ่นเทียนพรรษาขึ้นรถแห่อย่างบรรจงและเบามือ เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ก็นับว่าอยู่ในกระบวนการท้าย ๆ ของการทำเทียนพรรษาแล้ว
ตรงหน้า คือ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็กที่กำลังเร่งจัดทำ ตอนหน้าจัดทำเป็นตอน“พญามารวสวัตดี” ขี่ช้าง “ครีเมขละ” ตอนมาผจญพระพุทธองค์ ตอนกลางเป็นยอดบัวลูกแก้ว ลำต้นเป็นบัวลูกแก้ว สีขาวนวลงามตา อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเทียนพรรษาวัดแจ้ง
"เทียนวัดแจ้งจะออกเป็นสีออกจะเหลืองนวลนวล จะไม่ขาวมาก แล้วก็จะไม่เหลืองมาก แล้วก็เป็นลายขนาดเล็ก จะไม่โตมาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาจใช้เวลาในการผลิตลายและประกอบ" นายเกรียงไกร พันธ์พิพัฒน์ หัวหน้าช่างเทียนวัดแจ้ง หรือ ที่รู้จักกันว่า “อาจารย์ป้อม” อธิบาย
ปัจจุบัน อาจารย์ป้อมเป็นข้าราชการบำนาญในวัย 62 ปีที่ยังคงทำเทียนพรรษา อดีตเป็นนักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ มีประสบการณ์ทำเทียนพรรษามามากกว่า 40 ปี เป็นผู้ออกแบบต้นเทียนพรรษาและลวดลายของต้นเทียนพรรษาวัดแจ้งมายาวนานต่อเนื่อง เพราะสำหรับเขาแล้ว มันคืองานของบ้านเกิด
“ด้วยที่ว่าตัวเองเป็นคนคุ้มวัดแจ้ง เกิดและโตที่นี่ เห็นการเปลี่ยนแปลงถึงวัฒนาการของการทําเทียนวัดแจ้งมาตลอด ด้วยตัวเองเป็นคนชอบงานศิลปะก็เลยได้เข้ามาช่วยเหลือ และกลายมาเป็นผู้นําในการเทียนวัดแจ้ง ช่วยถ่ายทอดความรู้ องค์ประกอบในการจัดทําเทียนให้กับรุ่นช่างรุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลัง ผมออกแบบเสร็จแล้วค่อยมาคุยกันกับทีมช่างว่าจะเอายังไง ปรับตรงไหน เพิ่มตรงไหน”อาจารย์ป้อมอธิบาย
และแม้จะเกิดไฟไหม้โรงเทียนเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ทางวัดแจ้งก็ยังตัดสินใจส่งต้นเทียนพรรษาติดพิมพ์ขนาดเล็กเข้าประกวดแทนขนาดใหญ่ที่เคยส่งประกวดและได้รับรางวัลรองชนะเลิศในปีที่แล้ว เพราะรู้สึกว่าอย่างไรก็ต้องเข้าร่วม
“ยังไงปีนี้ก็จะต้องแข่งอยู่ดี จากปีที่แล้วที่เกิดอุบัติเหตุในขณะรื้อถอนต้นเทียนต้นเก่าขนาดใหญ่ ไฟทำให้ไฟไหม้ ทั้งต้นเทียน และอุปกรณ์ต่างๆ ทําให้แทบไม่มีอะไรเหลือ ค่าเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท ปีนี้จึงต้องใช้งบประมาณ 4-5 แสนบาท ดีที่ไม่ได้จอดรถต้นเทียนในโรงเทียน”อาจารย์ป้อมอธิบาย แต่ก็รู้สึกโชคดีที่ได้กำลังใจและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน
“ตั้งแต่ตอนที่เกิดเหตุ ตอนแรกก็ตกใจ แล้วก็หวั่นใจว่าอาจจะไม่ได้ทําเทียนปีนี้ แต่ด้วยว่ามีทางหน่วยงาน ห้างร้าน ทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นใจ ช่วยสนับสนุนงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ และจากที่ปีนี้ไม่ใช่เทียนพรรษาขนาดใหญ่ และรถที่ว่าจะซื้อก็กําลังจัดสร้างจัดทําอยู่ จึงกําลังใช้รถเล็กดัดแปลง ใช้แห่ก่อน” อาจารย์ป้อมกล่าว
นอกจากนี้ จำนวนช่างเทียนพรรษาก็ไม่ได้ลดลง ยังคงมีประมาณ 14-15 คนที่พร้อมใจกันเป็นช่างเทียนอาสาต่อไป โดยการสนับสนุนที่สำคัญจากเจ้าอาวาส
“มีท่านเจ้าอาวาสนะครับ ทั้งรูปปัจจุบันแล้วก็รูปที่ท่านมรณภาพไปแล้ว ท่านมีขวัญกำลังใจ แล้วมีฝีมือ ช่วยผลักดันทำให้ต้นเทียนวัดแจ้งมีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ ท่านแกะลายทุกลายลงในแผ่นไม้เนื้อแข็งและเนื้อสบู่ เพราะสบู่จะเนื้อละเอียด แล้วก็จะอ่อนกว่าหินอ่อน แล้วก็หายากกว่า ใช้มาทําให้เป็นแม่พิมพ์ ผมเป็นคนลงรายละเอียดลาย”
แม้จะส่งประกวดประเภทขนาดเล็ก แต่กำลังใจที่ได้รับกลับเกินความคาดหมาย “เห็นว่าทําต้นเทียนเล็ก ก็คิดว่านักเรียนนักศึกษาหรือว่าชาวบ้านก็คงจะมาช่วยเราน้อยลง แต่ไม่ใช่ ถึงเราจะทําต้นเล็ก แต่ชาวบ้านนักเรียนนักศึกษาก็ยังให้ความสนใจ ให้ความช่วยเหลือเรา ก็อดจะภูมิใจตรงนี้ไม่ได้ครับ ก็ยังเหมือนเรายังทําต้นใหญ่อยู่” อาจารย์ตอบด้วยสีหน้าตื้นตันใจ
สำหรับปรากฎการณ์วงการเทียนพรรษาในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนก็นับว่ายังเหมือนเดิม ไม่มีไรที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ ๆ
“ไม่มีปรากฏการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ รูปแบบก็ยังใกล้ๆเคียงกับอันเดิม หรือ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ก็นิดหน่อยนะครับ อาจจะไม่มากมาย หรือหวือหวาเท่าที่ควร” อาจารย์ป้อมให้ความเห็น
ด้านทิศทางของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีในอนาคตนั้น อาจารย์ป้อมตอบว่า อยากให้มีการสนับสนุนจำนวนเงินในการทำเทียนพรรษาและเงินรางวัลให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการทำต้นเทียนพรรษาในยุคปัจจุบัน
และแม้ว่าต้นทุนในการทำต้นเทียนพรรษาจะสูงกว่าเงินสนับสนุนที่ได้รับ แต่ก็สู้ เพราะมากกว่ารางวัล คือ หน้าตาจังหวัด
"คาดหวังรางวัลมั้ย? อยากจะได้อยู่ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทําต้นใหญ่ แต่ว่าทําเล็ก ก็อยากทําให้เต็มที่ เพื่อชื่อเสียงของอุบลราชธานีและชาวจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งสําคัญ คือ เพราะงานนี้เป็นหน้าเป็นตาของจังหวัดอุบลราชธานี" อาจารย์ป้อมกล่าว
และแน่นอน นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดมาเที่ยวงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ได้สักครั้งในชีวิต
"ทําไมต้องเป็นแห่เทียนพรรษาอุบลฯ? จุดเด่น เอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจเรา คืออะไร สําหรับต้นเทียนที่อุบลฯ มีการประกวดด้วยกัน 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียน โบราณ ซึ่งมีจำนวนประเภทที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ และมีลวดลายเทียนที่งดงาม มีลายเทียนโบราณด้วย นอกจากงานแห่เทียนแล้ว อุบลฯยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งน้ำ ป่าไม้ อาหารการกินก็อร่อยหลากหลาย อยากให้ลองมาชิมดู”อาจารย์ป้อมกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
“นอกจากที่วัดแจ้งแล้ว ก็มีวัดอื่นๆ ทําต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ได้ข่าวมาว่าหลายวัดยังขาดคนที่จะไปช่วยตัดลายเทียน ก็ขอเชิญชวนนักศึกษาและประชาชนที่สนใจมาช่วยกันตัดลายเทียนเอาบุญ เพื่อร่วมกันส่งเสริมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานีด้วยกันนะครับ” อาจารย์ป้อมกล่าวชักชวนด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
####################################
เรื่อง : เนาวรัตน์ แก้วแสงธรรม
ภาพ : วัชระ ส่งศรี
####################################
ห้ามพลาดกิจกรรม “เยือนชุมชน ชมวิถีทำเทียน” ณ ชุมชน 9 วัด ที่ยังมีอยู่จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 (วันรวมเทียน) เพื่อร่วมสัมผัสวิถีคนทำเทียนพรรษาอุบลฯ ตามคุ้มวัดพลแพน วัดมหาวนาราม วัดบูรพา วัดพระธาตุหนองบัว วัดสุปัฏนาราม วัดไชยมงคล วัดศรีประดู่ วัดแจ้ง และวัดผาสุการาม
สำหรับวัดที่จัดทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และประชาชนสามารถเข้าร่วมตัดลายเทียนได้ ได้แก่: วัดบูรพา, วัดพลแพน,
วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่), วัดสุปัฏนาราม, วัดศรีประดู่, วัดหลวง, วัดสารพัดนึก, วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ, วัดใต้ท่า, และวัดแจ้ง
ขอเชิญเที่ยวงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี 2568 ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2568
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ ดังนี้
🔸 9 ก.ค. 2568 – ชมต้นเทียนทุกต้น ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง เวลา 18.00 น.
🔸 10 ก.ค. 2568 – พิธีเปิดงาน เวลา 08.29 น. | แห่เทียนกลางคืน เวลา 18.00 น.
🔸 11 ก.ค. 2568 – แห่เทียนกลางวัน เวลา 08.29 น. | แห่กลางคืนต่อ เวลา 18.00 น.
🔸 12-13 ก.ค. 2568 – ชมต้นเทียนต่อเนื่อง ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก "สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี"