xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้ำซำ” โบราณสถานสำคัญเมืองพังงา สุดแปลกตาภาพเขียนโบราณหาชมยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ถ้ำซำ อันซีนพังงา แปลกตาภาพเขียนโบราณหาชมยาก
ชวนชมอันซีนพังงา “ถ้ำซำ” หรือ “ถ้ำสำ” แหล่งภาพเขียนสีหายากสุดแปลกตาในราวสมัยรัชกาลที่ 3- รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการจากกรมศิลป์แล้ว พร้อมกับความตื่นตัวในหลายภาคส่วนที่จะอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืนสืบต่อไป

“ตัวเมืองพังงา” นอกจากจะเป็นตัวเมืองเล็ก ๆ ที่ชาวเมืองดำรงวิถีกันอย่างเรียบสงบงามแล้ว ในตัวเมืองพังงายังมีของดีและแหล่งท่องเที่ยวอันซีนซุกซ่อนอยู่หลายจุดด้วยกัน

ภาพวาดอันเป็นเอกลักษณ์ในถ้ำซำ
หนึ่งในนั้นก็คือ “ถ้ำซำ” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านฝายท่า ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดพังงาประมาณ 5 กิโลเมตร

ถ้ำซำ หรือ ถ้ำน้ำซำ หรือที่คนใต้เรียกกันว่า “ถ้ำสำ” เป็นถ้ำเล็ก ๆตั้งอยู่ใต้ขุนเขาหินปูนที่ด้านหน้ามี“หนองหารซำ” บึงน้ำขนาดใหญ่ ที่มีสภาพธรรมชาติอันสวยงาม

หนองหารซำ
ถ้ำซำถือเป็นอันซีนพังงาที่วันนี้ยังมีคนรู้จักกันไม่มาก จากทางเดินปูน เดินเมื่อเข้าไปไม่กี่เมตรก็จะเจอเพิงผาถ้ำที่ตรงก้อนหินใหญ่บริเวณช่วงกลางโถง มีการแกะสลักหินเป็นรูปทรงพระพุทธรูปแบบหยาบ ๆ ทำให้หลายคนสันนิษฐานว่าที่นี่น่าจะเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์มาก่อน

ขณะที่ส่วนที่ถือเป็นไฮไลต์และเป็นเสน่ห์ดึงดูดอันโดดเด่นของถ้ำแห่งนี้ ก็คือ ตามบริเวณผนังถ้ำที่มากไปด้วยภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในราวสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5

งานแกะสลักหินพระพุทธรูป
ภาพจิตรกรรมฝาผนังถ้ำซำมีทั้งที่เป็นภาพลายเส้นและภาพลงสี ขาว ดำ แดง แสดงเรื่องราวทางพุทธศาสนาและวิถีผู้คนในอดีต โดยภาพที่เด่น ๆ ก็มีภาพ คน หญิง-ชาย เด็กผมแกละและผมจุก คนที่ใบหน้าคล้ายตัวหนังตะลุง ภาพคนไว้ผมเปียแต่งกายแบบชาวจีนคล้ายเป็นขุนนางนั่งอยู่บนเกี้ยว ยักษ์ ภาพดอกไม้ นก ม้า เป็นต้น

ภาพวาดเหล่านี้แม้จะมีบางส่วนสีเลือนไปบ้าง แต่ภาพวาดส่วนใหญ่ยังคงปรากฏสีสันและลวดลายอันชัดเจนให้ชม นั่นคงเป็นเพราะภาพเหล่านี้เขียนในผนังถ้ำใต้เพิงผาที่รอดพ้นจากฝน แดด จึงยังคงสภาพที่ดีอยู่มาถึงจนทุกวันนี้

ภาพวาดโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ภายในถ้ำซำ
สำหรับภาพจิตกรรมฝาผนังที่ถ้ำซำ แม้จะเขียนในอารมณ์ช่างพื้นบ้านที่ดูดิบ ๆ แต่ว่ากลับเป็นภาพวาดที่ดูทรงเสน่ห์ชวนมอง

โดยเฉพาะหน้าตาของคนในบางภาพที่วาดออกมาเป็นหน้าตาแบบคนใต้ และถ่ายทอดแววตาอารมณ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา นับเป็นงานภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังถ้ำที่สวยงามแปลกตา มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอย่างยิ่ง

ภาพวาดบุคคลในถ้ำซำ
เป็นที่น่ายินดีว่าวันนี้ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนถ้ำซำเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา ยังได้ร่วมกับ สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช อบต.ถ้ำน้ำผุด และกองทุนสามพระยาบริรักษ์ภูธร จัดเวทีเสวนา “ถอดรหัสภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ถ้ำสำ(ถ้ำซำ)” เพื่อเดินหน้าอนุรักษ์และพัฒนาถ้ำซำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

ภาพวาดบุคคลในสไตล์ปักษ์ใต้
งานนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ พร้อมผู้ที่สนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังและช่วยให้ข้อมูล ท่ามกลางความยินดีของคนในพื้นที่ที่จะได้อนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่

นางสาวสิริยุพน ทับเป็นไทย (ภาพ : อโนทัย งานดี)
นางสาวสิริยุพน ทับเป็นไทย นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักงานศิลปากรที่ 15 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า โบราณสถานถ้ำซำ เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งทางกรมศิลปากรได้เริ่มเข้ามาสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา โดยเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญเนื่องจากเป็นภาพเขียนสีในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่น้อยมาก

ภาพสัตว์และดอกไม้
นางสาวสิริยุพน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปกติภาพลักษณะนี้จะพบเห็นตามศาสนสถานเป็นหลัก แต่พบเห็นในธรรมชาติน้อยมาก ทั้งยังเป็นภาพเขียนที่ความสมบูรณ์อยู่มาก และจากการดูบริบทของภาพแล้ว คาดว่า น่าจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 โดยมีภาพที่บอกเล่าถึงประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่บอกเล่าถึงสังคมพังงาในยุคนั้น

ภาพวาดหน้ายักษ์
หลังจากนี้ทางกรมศิลปากรจะร่วมมือกับ อบต.ถ้ำน้ำผุด ร่วมกัน อนุรักษ์และพัฒนาถ้ำซำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดพังงา ขณะที่การขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานครั้งนี้จะเป็นการปกป้องถ้ำซำหรือถ้ำสำ จากการถูกทำลาย ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณของพื้นที่ โดยการอนุรักษ์จะดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืนสืบไป

เพิงผาแห่งถ้ำซำ
########

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก อโนทัย งานดี

เส้นทางเดินสู่ถ้ำซำ




กำลังโหลดความคิดเห็น