xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวตามรอยนายกฯ เยือน 2 วัดดัง ที่ "สกลนคร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดถ้ำผาแด่น
หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้นายกฯ เดินทางมายัง “วัดถ้ำผาแด่น” และมาสักการะ "พระธาตุเชิงชุม" พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง พร้อมเตรียมพัฒนาให้สกลนครเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาของประเทศไทยอีกด้วย

วันนี้จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับประวัติความเป็นมาของวัดทั้ง 2 แห่งนี้กัน

“วัดถ้ำผาแด่น” ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และคณะครูบาอาจารย์สายวัดป่ากรรมฐานเคยธุดงค์มาปักกลดบำเพ็ญเพียร เมื่อประมาณปี พ.ศ.2483 ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามแล้ว

ภายในวัดนั้นยังคงความเงียบสงบอยู่เช่นเดิม และมีสิ่งที่น่าสนใจเริ่มตั้งแต่ภาพแกะสลักหินทรายพระพุทธสีไสยาสน์ และยังมีก้อนหินขนาดใหญ่ที่แกะสลักเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ ภาพพระอริยสงฆ์รูปต่างๆ ของไทย มีการแกะสลักจำลองรอยพระพุทธบาท 4 รอย และแกะสลักภาพ 4 มหาเทพ

วัดถ้ำผาแด่น
และใครที่ขึ้นมาถึงวัดถ้ำผาแด่นแล้ว นอกจากจะมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาพักผ่อนใจในความเงียบสงบแล้ว ก็ยังมีจุดพักชมวิวของเมืองสกลนครในมุมสูงอีกด้วย

สำหรับจุดแลนด์มาร์กต้องห้ามพลาดของวัดถ้ำผาแด่น เลยก็คือ องค์พญานาคปรกขนาดใหญ่ที่มีรูปปั้นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ใต้เศียรพญานาค ซึ่งถือเป็นจุดถ่ายรูปที่งดงามอีกหนึ่งของสกลนครเลยก็ว่าได้

นอกจากที่วัดถ้ำผาแด่นแล้ว นายกฯ ยังเดินทางไปสักการะพระธาตุเชิงชุม พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารอีกด้วย

วัดถ้ำผาแด่น
พร้อมกันนี้นายกฯ โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า “ใครมาสกลนคร ต้องแวะสักการะพระธาตุเชิงชุม ไหว้หลวงพ่อองค์แสนนะครับ ไม่อย่างนั้นถือว่ามาไม่ถึงสกลนคร วันนี้ผมมาถึงแล้วครับ


พระธาตุเชิงชุม เป็นปูชนียสถานสําคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด มีรอยพระพุทธบาทถึง 4 รอย มีความศักดิ์สิทธิ และความงดงามมาก พระพุทธรูปหลวงพ่อพระองค์แสน ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาที่นี่เพื่อสักการะขอพรสักครั้งครับ


หากใครเดินทางมาอีสานกลาง มาเส้นทางท่องเที่ยวสักการะพระธาตุสำคัญของเราในหลายๆจ.พร้อมกันได้ครับ


ขอบคุณพี่น้องชาวสกลนครที่มารำต้อนรับอย่างอบอุ่น สวยงาม ประทับใจมากครับ”

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
สำหรับ “พระธาตุเชิงชุม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสกลนคร ที่ “วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร” สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคติการบูชารอยพระพุทธบาทผ่านตำนานอุรังคธาตุในตำนานกล่าวถึงกำเนิดพระธาตุเชิงชุมไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์พร้อมพระอรหันต์ ได้เสด็จโปรดสัตว์และประทับรอยพระพุทธบาทตามสถานที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงแล้วได้เสด็จมายังเมืองหนองหารหลวงซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสกลนคร ณ สถานที่แห่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาททับซ้อนลงบนรอยพระพุทธบาทของพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า ที่ได้เคยเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้แล้วในบริเวณที่ เรียกว่า "ภูน้ำลอด" ซึ่งสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมในปัจจุบัน พระยาสุวรรณกิงคารผู้ครองเมืองหนองหารหลวงจึงโปรดให้ก่ออบมุง (อุโมงค์) ครอบรอยพระบาทดังกล่าวไว้ จึงเป็นที่มาของนาม "พระธาตุเชิงชุม"

พระธาตุเชิงชุม
สำหรับองค์พระธาตุเชิงชุมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระธาตุองค์ใหม่ที่สร้างครอบองค์เดิมไว้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นปราสาทเขมรที่ก่อด้วยศิลาแลง โดยพบหลักฐานเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ บริเวณกรอบประตูทางด้านทิศตะวันออก เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงการอุทิศที่ดินและสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่เทวสถาน กำหนดอายุสมัยจากอักษรได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 สอดคล้องกับสถานที่ตั้งองค์พระธาตุที่ตั้งภายในแนวกำแพงเมืองคูเมืองสกลนครซึ่งมีรูปทรงคล้ายรูปสีเหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเป็นคติการสร้างบ้านเมืองแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ

ด้านในพระอุโบสถหลังใหม่
ต่อมา จึงมีการก่อสร้างพระธาตุเชิงชุมขึ้นใหม่ ครอบทับไปบนปราสาทเดิม ลักษณะเป็นเจดีย์แบบล้านช้าง เนื่องด้วยอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่ ส่วนยอดของเจดีย์คล้ายบัวเหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 24 เมตร

พระพุทธบาทสี่รอย
ส่วนภายในวิหารที่ติดกับพระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์แสน” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสน ซึ่งหากว่าได้เข้าไปสักการะองค์หลวงพ่อด้านในวิหารจะเห็นว่ามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 2 องค์ ด้านหน้านั้นคือหลวงพ่อองค์แสนองค์เดิม ส่วนด้านหลังคือหลวงพ่อองค์แสนที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่จะทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ เมื่อสร้างหลวงพ่อองค์แสนองค์ใหม่ ประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังแล้ว ก็จะมีการทุบหลวงพ่อองค์เดิมทิ้ง แต่เกิดปาฏิหาริย์ ทำให้ไม่สามารถทุบทิ้งได้ ในเวลาต่อมาจึงประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนทั้งสององค์ไว้ในลักษณะเดิม

ถัดจากวิหาร เป็น “พระอุโบสถ” (หลังใหม่) ด้านในประดิษฐานพระประธาน และมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก

นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดสกลนคร (ภาพจาก X บัญชี Sretta Thavisin)
นอกจากนี้นายกฯ โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า

"สกลนคร ควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาของประเทศไทยครับ

เดินทางมา จ.สกลนครครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดด้วยตาตัวเองครับ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงศาสนา เช่น วัดถ้ำภูผาแด่น นี้ ที่นี่บรรยากาศดี มองลงไปข้างล่างเห็นวิวเมืองสกลนครที่สวยงาม เหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อน ทำให้ผู้คนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเดินทางขึ้นมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

ผมขอให้จังหวัดสกลนคร กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผมยังคาดหวังให้การยกระดับการท่องเที่ยวเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การทำนุบำรุงศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สะดวกสบายครับ"


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น