พาไปสัมผัสกับอันซีนเชียงใหม่ “ป่าเมฆสูงสุดในสยาม” บนยอดดอยอินทนนท์ บริเวณจุดที่สูงที่สุดในเมืองไทย ในวันที่ชุ่มฟ้าฉ่ำฝนเกิดเป็นบรรยากาศ “ป่าเมฆสูงสุดในสยาม” ท่ามกลางม่านหมอกปกคลุมขาวโพลน ที่ดูสวยงามแปลกตาและน่าทึ่งกระไรปานนั้น
“ดอยอินทนนท์” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นขุนเขาที่มียอดสูงที่สุดในเมืองไทย คือ ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “จุดสูงสุดแดนสยาม” ตั้งอยู่บนระดับความสูง 2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล
บนนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับป้าย “สูงสุดแดนสยาม” แล้ว ยังมีอันซีนเชียงใหม่ที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป นั่นก็คือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย” (Yod Doi Nature Trail) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเทรลเดินป่าที่สูงที่สุดในเมืองไทย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย มีระยะทางสั้น ๆ เพียง 150 เมตร แต่ระหว่างทางมีความพิเศษทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และนิเวศวิทยา ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
เทรลเดินป่าเส้นนี้สามารถเข้า-ออก ได้ 2 ทาง ทั้งจากจุดเริ่มต้นช้างคู่บริเวณลานจอดรถทางไปชมป้ายสูงสุดแดนสยาม แล้วเดินไปออกยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือจะใช้เส้นทางย้อนศรจากจุด “ต้นทางจิตสำนึก” (จุดสิ้นสุดของเทรล) ข้าง ๆ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแล้วเดินสวนทางขึ้นมายังป้ายจุดสูงสุดแดนสยามก็ได้
เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ ทำเป็นสะพานไม้เดินสบาย ระหว่างทางจะพบกับลักษณะเฉพาะตัวของระบบนิเวศแบบ “ป่าเมฆ” ที่สูงที่สุดในเมืองไทย บนระดับความสูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ที่นี่เราจะได้พบมวลหมู่ต้นไม้ที่มีกลไกการปรับตัวในอากาศหนาวเย็น จนเกิดเป็นลักษณะของ “ต้นไม้ใส่เสื้อผ้า” ที่มี มอส เฟิน ฝอยลม ขึ้นอิงอาศัยปกคลุมหนาแน่นตามลำต้น กิ่งก้าน รวมถึงพบกับต้น “ทะโล้” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปรับตัวดีที่สุดในเอเชีย
ในเส้นทางสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “สถูปพระเจ้าอินทรวิชยานนท์” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร พระองค์เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผืนป่า “ดอยหลวง” หรือ "ดอยอ่างกา" อันเป็นชื่อเดิมของดอยอินทนนท์ ซึ่งมีความรักเป็นพิเศษถึงขนาดรับสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไป ขอให้นำอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้บนยอดดอยแห่งนี้
ครั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงจึงได้มีการนำอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ในสถูปดังกล่าวบริเวณยอดดอย ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อจาก “ดอยหลวง หรือ “ดอยอ่างกา” มาเป็น “ดอยอินทนนท์” ในเวลาต่อมา
สำหรับผู้ที่มากราบสักการะสถูปพระเจ้าอินทรวิชยานนท์โปรดงดจุดธูปเทียน เพื่อลดมลภาวะทางอากาศและไม่รบกวนธรรมชาติ
นอกจากนี้จากบริเวณหน้าสถูปยังมีทางเดินไปด้านหลังสถูปเพื่อนำชม “หมุดหลักฐานจุดสูงสุดแดนสยาม” ซึ่งย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 หมุดแห่งนี้วัดด้วยการใช้กล้องส่องรังวัด ใช้โซ่เหล็กวัดระยะ และตะเกียงโคมไฟในการรังวัด โดยใช้แสงตะเกียงเขายอดหนึ่งไปยังอีกยอดหนึ่ง เชื่อมต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมตามแนวที่ต้องการ หากมองไม่เห็นดวงไฟก็สร้างหอคอย หรือตัดโค่นต้นไม้บนสันเขาที่บดบังออก
หลังจากนั้นนายเจมส์เอฟ แมคคาร์ธี เจ้ากรมแผนที่ทหารในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของเมืองไทย ได้สรุปผลออกมาว่ายอดสูงสุดของดอยอินทนนท์มีความสูง 8,450 ฟุต หรือ 2,575.60 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นกรมแผนที่ทหารทำการวัดใหม่ด้วยดาวเทียม ได้ระดับความสูง2,565.3341 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
จากหมุดหลักฐานจุดสูงสุดแดนสยาม ใกล้ ๆ กันจะเป็น “ป้ายสูงสุดแดนสยาม” บอกข้อมูลจุดที่สูงที่สุดในประเทศไทยบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเช็กอินยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวบนดอยอินทนนท์
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย เส้นทางเดินป่าที่สูงที่สุดในเมืองไทย ซึ่งสามารถเดินเที่ยวเชื่อมโยงกับ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ที่อยู่ใกล้ ๆ กันได้อย่างสบาย เพียงข้ามถนนจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปอีกฝั่งก็จะพบกับผืนป่าอ่างกา ที่เป็นป่าพรุสูงที่สุดในเมืองไทย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกามีบรรยากาศดูคล้าย “ป่าโบราณ” หรือ “ป่าดึกดำบรรพ์” ที่ดูสวยงามแปลกตาด้วย “ต้นไม้ใส่เสื้อผ้า” ซึ่งมีมอส เฟิน ฝอยลม ปกคลุมลำต้นกิ่งก้านอย่างหนาแน่น รวมถึงมี “ข้าวตอกฤาษี” มอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยให้ชมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ถือเป็นเส้นทางเดินป่าอันสวยงามและน่าทึ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย