แหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ นอกจากความสวยงาม แปลกตา น่าทึ่ง ของตัวแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ที่ไปเยือน บรรยากาศ และเรื่องราวระหว่างทางแล้ว “ป้าย” ตามแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดให้คนไปถ่ายรูปคู่กับป้ายเป็นที่ระลึกกันไม่น้อย
ยิ่งเป็นป้ายประเภทมีความสวยงาม มีเรื่องราว มีอัตลักษณ์โดดเด่น ก็ยิ่งกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินสำคัญเคียงคู่แหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ
และนี่ก็คือ 3 แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในบ้านเราที่มีจุดถ่ายรูปคู่กับป้ายอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูป-เช็กอิน ยามเมื่อมีโอกาสไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ
ป้ายจุดสูงสุดแดนสยาม ดอยอินทนนท์
ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นขุนเขาที่มียอดสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ผู้ดูแลพื้นที่จึงได้จัดสร้างป้าย “สูงสุดแดนสยาม” ไปติดตั้งไว้บริเวณยอดดอยสูงสุด เพื่อให้เป็นจุดถ่ายรูปเช็กอิน เมื่อขึ้นไปเยือนดอยอินทนนท์
ป้ายสูงสุดแดนสยามเป็นป้ายไม้ที่มีทั้งภาษาไทย-อังกฤษ ระบุข้อมูลบริเวณนี้ว่า มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร ถือเป็นหนึ่งในบ้ายของฮิตของแหล่งท่องเที่ยวป้ายเรา เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวดอยอินทนนท์ มักจะไม่พลาดการมาถ่ายรูปกับป้ายแห่งนี้
จากป้ายสูงสุดแดนสยามจะมีเส้นทางเดินไปยัง “สถูปของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ บุคคลสำคัญที่ทำให้ดอยแห่งนี้เปลี่ยนจากชื่อเดิมคือ “ดอยหลวง” และ “ดอยอ่างกา” มาเป็น “ดอยอินทนนท์”
ส่วนถ้าเดินต่อไปจะไปออกที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วข้ามถนนไปจะเป็น “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ที่มีบรรยากาศดูคล้าย “ป่าโบราณ” หรือ “ป่าดึกดำบรรพ์” ที่ดูสวยงามแปลกตาด้วย “ต้นไม้ใส่เสื้อผ้า” ซึ่งมีมอสเฟินปกคลุมลำต้นกิ่งก้านอย่างหนาแน่น รวมถึงมี “ข้าวตอกฤาษี” มอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยให้ชมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ถือเป็นเส้นทางเดินป่าอันสวยงามและน่าทึ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ป้ายใต้สุดสยาม เบตง
อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย ทางภาครัฐจึงสร้างป้าย “ใต้สุดสยาม” ไว้บริเวณด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย (รัฐเปรัค) ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปราว 7 กิโลเมตร
ป้ายใต้สุดสยามสร้างจากหินอ่อน มีตัวหนังสือและรูปแผนที่ประเทศไทยเป็นสีทอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปเช็กอินยอดนิยมของผู้ที่ล่องใต้ไปเที่ยวเบตง โดยมีคำกล่าวว่า “ถ้าไม่ได้มาถ่ายรูปคู่กับป้ายใต้สุดสยาม ถือได้ว่ามาไม่ถึงเบตง”
อย่างไรก็ดีบริเวณที่ตั้งป้ายใต้สุดสยามนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งที่อยู่ใต้สุดของเมืองไทย แต่จุดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยหรือจุดใต้สุดสยามจริง ๆ คือที่จุดสิ้นสุดประเทศไทย หมู่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง ซึ่งมีการสร้าง หลักเขต 54 A ไว้เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเบตง
นอกจากนี้ในอำเภอเบตงยังมีจุดถ่ายรูปคู่กับป้ายเด่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปด้วยอีกหลายจุด อย่างเช่น ป้ายเบตงใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน หน้าอุโมงเบตงมงคลฤทธิ์ (ฝั่งสนามกีฬา) ที่มีประติมากรรมพี่ตูนยืนอยู่เคียงข้าง, ป้ายอักษรไทย-อังกฤษตัวโตของสกายวอล์คทะเลหมอกอัยเยอร์เวง, ป้ายอักษรโอเคเบตง (OK BETONG) ที่อยู่ริมทางฝั่ง (จากยะลา) ขาเข้าเมืองเบตงที่นำมาจากชื่อภาพยนตร์ รวมถึงป้ายรถยนต์ “ทะเบียนเบตง” ที่เป็นป้ายรถยนต์ให้ทะเบียนเป็นชื่ออำเภอหนึ่งเดียวในเมืองไทย เป็นต้น
ป้ายผู้พิชิตภูกระดึง
ภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเดินป่าขึ้นเขาระดับตำนานดาวค้างฟ้าที่ยังคงได้รับความนิยมนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ภูกระดึง เป็นภูเขายอดตัดราบรูป (คล้าย) “หัวใจ” หรือ “ใบบอน” มีพื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 400-1,200 เมตร โดยมียอดสูงสุด ตั้งอยู่บนความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล
บนยอดภูกระดึง มีการเปิดพื้นที่บางส่วนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ อาทิ ผาหล่มสัก ผานกแอ่น ผาหมากดูก ป่าสน สระอโนดาต น้ำตกต่าง ๆ เช่น น้ำตกโผนพบ เพ็ญพบ ถ้ำสอเหนือ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีการจะขึ้นสู่ยอดภูกระดึงปัจจุบันต้องเดินเท้าขึ้นเขาอย่างเดียว โดยจากจุดเริ่มต้นที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านศรีฐาน มีระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร เดินขึ้นเขาชันผ่านซำต่าง ๆ สู่ “หลังแป” ที่เป็นจุดเหยียบสัมผัสแรกบนภูกระดึง ซึ่งต้อนรับเราด้วยป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง”
ป้ายผู้พิชิตภูกระดึงป้ายนี้ที่หลังแป แม้ว่าจะเป็นป้ายธรรมดา ๆ ตามมาตรฐานทั่ว ๆ ไปของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งป้ายในตำนานการท่องเที่ยวของบ้านเรา ทั้งยังเป็นป้ายที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คน เพราะกว่าจะดั้นด้นเดินขึ้นเขาจากด้านล่างมาถึงหลังแปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
และนี่ก็คือตัวอย่างเพียงส่วนน้อยนิดของป้ายแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเราที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งในบรรดาป้ายชื่อตามสถานที่หรือแหล่งท่องต่าง ๆ ป้ายหลาย ๆ แห่งมีมากกว่าฟังก์ชั่นในการบอกชื่อสถานที่หรือบอกตำแหน่ง แต่มันยังเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินของนักท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์ก เป็นเอกลักษณ์คู่เมือง บางป้ายก็มีคุณค่าทางจิตใจ
ดังนั้นการจะเปลี่ยนป้ายต่าง ๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ อย่าทำชุ่ย ๆ และไม่ทำสนองความโว้ค หรือทำเพื่อหาเรื่องกินงบประมาณ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะถูกสังคมก่นด่าเละเทะ แม้กระทั่งผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีก็ยังมิอาจต้านทาน