xs
xsm
sm
md
lg

ดราม่า “อุทยานฯศรีเทพ” ไม่ให้ “ดร.สุกรี” นำกันตรึมมาแสดง ทำชาวเน็ตเสียงแตก-หน.อุทยานฯ ขอย้ายออกนอกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อุทยานฯ ศรีเทพ แจงปมดราม่า เหตุไม่อนุญาตให้ “ดร.สุกรี เจริญสุข” นำกันตรึมมาแสดง หวั่นเกิดการสื่อสารด้านวัฒนธรรมผิดพลาด พร้อมแนบเอกสารยืนยันว่าไม่มีการขอแสดงกันตรึมมาตั้งแต่แรก ส่วน หัวหน้าอุทยานฯ ศรีเทพ แสดงความรับผิดชอบขอย้ายออกนอกพื้นที่ ขณะที่ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจพร้อมขอให้อยู่ทำหน้าที่ต่อ

จากกรณี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้ยกเลิกการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตร้าที่เดิมมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่ทำการแสดงดังกล่าวอย่างกะทันหันไปที่ พาสาน จ.นครสวรรค์ แทน โดยจะทำการแสดงในวันเดิม คือ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 17.00-20.00 น.

ปรางค์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ทั้งนี้ ดร.สุกรี ได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว (เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 67) ลงในเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ สุกรี เจริญสุข Sugree Charoensook ซึ่งมีส่วนหนึ่งของข้อความระบุว่า

...การยกเลิกวงไทยซิมโฟนีออเคสตร้าที่อุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลกที่ศรึเทพ ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2567 เพราะเห็นว่า หัวหน้าอุทยานกีดกัน โดยอ้าง “วันที่ทีมงานมาประชุม ได้ยินว่าจะมีการแสดงของกันตรึมของน้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ ทางอุทยานเห็นว่ากันตรึมไม่ใช่วัฒนธรรมทางนี้” จากข้ออ้างของหัวหน้าอุทยาน จึงขอยกเลิกทั้งหมด เพราะเป็นความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม เป็นการกีดกันศิลปิน ดูหมิ่นและเป็นการไม่ให้เกียรติศิลปินพื้นบ้าน...

โพสต์จากเฟซบุ๊กของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข
นอกจากนี้ ดร.สุกรี ยังได้เขียนบทความ อธิบายเพิ่มเติมในมติชน ออนไลน์ บทความ ย้ายพื้นที่แสดงกะทันหัน จากศรีเทพไปพาสาน ปากน้ำโพ (2 มิ.ย. 67) อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งพูดถึงความสำคัญของเพลงกันตรึม และ “น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์” ศิลปินกันตรึมชื่อดัง โดยมีบางส่วนของบทความทำให้เกิดเป็นประเด็นต่อเนื่องตามมาอีก คือ...น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ เป็นศิลปินกันตรึมผู้รักษาวัฒนธรรมเขมรโบราณไว้ โดยเฉพาะดนตรีเพลงร้องในงานพิธีกรรมต่างๆ มีชื่อเสียงสามารถแสดงร้องกันตรึมได้ทั้งแบบโบราณ แบบอนุรักษ์ และแบบประยุกต์ร่วมสมัย...

หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้กลายเป็นอีกหนึ่งดราม่าบนโลกโซเชียล มีชาวเน็ตเข้าไปแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีทั้งพวกที่เชียร์ทาง ดร.สุกรี และถือหางฝั่งทางอุทยานฯ ศรีเทพ

โดยทางฝั่งเชียร์ ดร.สุกรี มีหลายคนที่แสดงความเห็นออกมาสอดคล้องกัน อย่างเช่น ทางอุทยานฯศรีเทพ มีมุมมองด้านศิลปวัฒนธรรมคับแคบ, ดนตรีมีความเป็นสากลไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำของวัฒธรรม, เสียดายโอกาสทางการท่องเที่ยวของศรีเทพ รวมถึงเข้ามาแสดงความยินดีกับชาวจังหวัดนครสวรรค์ที่จะได้ชมการแสดงกันตรึมของ น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์ กันเป็นจำนวนมาก

ธรรมจักรและเขาคลังใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ขณะที่นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ได้เขียนบทความ “เมืองศรีเทพ ถูกห้ามเล่นเพลงดนตรีจากข้าราชการไม่รู้จักเพลงดนตรี” สนับสนุน ดร.สุกรี ลงมติชนออนไลน์ (3 มิ.ย.67) โดยนายสุจิตต์ได้โปรยเรื่องว่า...ศรีเทพ (จ.เพชรบูรณ์) เมืองโบราณต้นทางประวัติศาสตร์สยามและความเป็นไทย ซึ่งมีคุณค่ามหึมา และมีมูลค่ามหาศาล “ขาย” ได้เป็นนิรันดร์-แต่รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจ แล้วปล่อยทิ้งให้บริหารจัดการตามอำเภอใจ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ดูถอยห่างจากมาตรฐานสากลของความเป็นมรดกโลก...

บทความนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดพลิกเกมที่ทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากหันไปถือหางฝั่งทางอุทยานฯ ศรีเทพ โดยชาวเน็ตที่เห็นด้วยกับทางอุทยานฯศรีเทพ ส่วนใหญ่ต่างมองว่า หากมีการแสดงกันตรึมขึ้นที่ศรีเทพ จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านนำไปเคลมจนกลายเป็นดราม่าระหว่างประเทศ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นการที่ทางอุทยานฯ ตัดไฟแต่ต้นลมจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง รวมถึงที่อื่นมีทำไมต้องเลือกมาจัดแสดงกันตรึมที่ศรีเทพ

ปรางค์สองพี่น้อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อย่างไรก็ดีกรณีดราม่ากันตรึมที่ศรีเทพได้ถูกสยบลงเมื่อ นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวผ่าน เพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ดังนี้

เรื่องการจัดแสดงของมูลนิธิ อ.สุกรี เจริญสุข ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นั้น อุทยานฯ ขอชี้แจง ดังนี้

1. อุทยานฯ ได้จัดทำบันทึกข้อความ รายงานกรมศิลปากรเพื่อตอบหนังสือมูลนิธิ อ.สุกรี เจริญสุข ขอให้กรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพร่วม โดยแสดงความเห็นในภาพรวมสนับสนุนการจัดงาน โดยจะจัดขึ้น บริเวณโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร โดยในเบื้องต้น แจ้งขอสนับสนุน โต๊ะ เก้าอี้ และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่ (ภาพที่ 1 และ 2)

2. กรมศิลปากรได้มีหนังสือตอบรับการเป็นเจ้าภาพร่วม และยินดีให้ใช้สถานที่จัดงานแล้ว (ภาพที่ 3)

3. มูลนิธิได้มีการเข้ามาสำรวจพื้นที่อีก 2 – 3 ครั้งซึ่งในช่วงระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่มูลนิธิ ได้แจ้งให้อุทยานฯ ทราบว่า ในการแสดงออเครสตร้าครั้งนี้ จะมีการแสดงร่วมกับการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งได้เลือกการแสดงพื้นบ้าน “กันตรึม” มาแสดงร่วม ซึ่งการแสดงกันตรึมเป็นวัฒนธรรมทางสุรินทร์ และได้เคยจัดแสดงร่วมกับทางมูลนิธิฯ ไปแล้ว ที่ปราสาทพนมรุ้ง อุทยานฯ ได้พูดคุย เจรจา ถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้เป็นการแสดงพื้นบ้าน/การแสดงพื้นถิ่นของคนในพื้นที่อำเภอศรีเทพ หรือในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะไม่อยากให้มีการสื่อสารที่ผิดพลาด ว่าการแสดงกันตรึมเป็นการแสดงคนในพื้นที่อำเภอศรีเทพ หรือจังหวัดเพชรบูรณ์

4. การสื่อสารระหว่างอุทยานฯ กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ยังมีมาโดยตลอด โดยก่อนหน้าที่ ทางมูลนิธิฯ จะตัดสินใจยกเลิกการแสดง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทางอุทยานฯ อุทยานฯ ได้แสดงความเห็นที่จะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในการจัดงานในส่วนของไฟส่องสว่างตามทางเดิน ลานจอดรถ เนื่องจากมูลนิธิฯ มีงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการจัดไฟให้ความสว่าง ในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่จัดแสดง

ทับหลังรูปอุมามเหศวร
5. อย่างไรก็ตาม ในการโทรศัพท์ครั้งล่าสุดระหว่าง อ.สุกรี เจริญสุข กับหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อาจารย์สุกรี ได้แจ้งความประสงค์จะยกเลิกการแสดง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพราะไม่พอใจการสื่อสารของอุทยานฯ ในเชิงไม่เห็นด้วยกับการแสดงกันตรึม ร่วมกับวงออเครสต้า ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่ง อ.แจ้งว่าเป็นการก้าวล่วงการแสดง จึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนสถานที่จัดงานแสดง

6. ในการโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายนี้เอง หัวหน้าอุทยานฯ แจ้งอย่างชัดเจน ว่าไม่มีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาต ให้การจัดแสดงฯ แต่มีความจำเป็นต้องสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียดถึงแรงบันดาลใจในการจัดแสดง เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้แนบข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงกันตรึม ไว้ในเรื่องการขออนุญาตตั้งแต่แรก

7. อุทยานฯ ขอชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาใด ๆ ที่จะไม่เคารพในวัฒนธรรมใด ๆ ที่มีอยู่ ในพื้นที่ต่าง ๆ และเข้าใจว่าทุกการแสดงทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม มีคุณค่าในตัวเอง และมีอิสระในการจัดแสดง ได้ในทุกสถานที่

8. สุดท้ายนี้ เมื่อการสื่อสารของทางอุทยานฯ ทำให้เกิดความไม่สบายใจกับหลาย ๆ ภาคส่วน โดยที่สำคัญที่สุด คือ กับประชาคนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายที่เกินกว่าเหตุในอนาคตได้ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จึงขอแสดงความรับผิดชอบ ในการเขียนขอย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเพิ่มเติม โดยจะรีบทำเรื่องยื่นต่อกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาโดยด่วนที่สุดต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

นายสิทธิชัย พูดดี

หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ



ทั้งนี้นายสิทธิชัย ได้แนบเอกสารราชการมาเป็นหลักฐานยืนยันว่า ทางมูลนิธิ ดร.สุกรี ระบุเพียงว่าจะมีการแสดง บรรเลงดนตรีโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า พร้อมมีการบันทึกการแสดงทางทีวีช่องหนึ่งเพื่อเผยแพร่สู่ประชาชน โดยไม่ได้ระบุว่าจะมีการแสดงกันตรึมในเอกสารดังกล่าว แต่อย่างใด

หลังโพสต์ชี้แจงพร้อมเอกสารของทางอุทยานฯ ศรีเทพ ถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตเข้ามาให้กำลังใจ นายสิทธิชัย พูดดี กันเป็นจำนวนมาก พร้อมแสดงเจตจำนงให้ นายสิทธิชัย ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานฯศรีเทพ รวมถึงหันไปตำหนิ มูลนิธิ อ.สุกรี เจริญสุข กันเป็นจำนวนมาก

พลแบกแห่งเขาคลังใน
ด้าน นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องนี้กับสื่อมวลชน ว่า เรื่องการขอย้ายออกจากพื้นที่ของนายสิทธิชัย ยังมาไม่ถึงตน แต่คิดว่าเรื่องนี้เป็นการสื่อสารที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน และเท่าที่ฟังเหตุผลที่ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพชี้แจงมา ก็คิดว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้

ดังนั้น กรมศิลปากรจึงยังไม่มีนโยบายย้ายหัวหน้าอุทยานออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ เพราะนายสิทธิชัยเองก็มีผลงานฝ่าฟันเกี่ยวกับการประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกมาโดยตลอด ดังนั้น การให้ย้ายออกจากพื้นที่จึงอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และหลังการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ยังมีงานอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งหัวหน้าอุทยานคนปัจจุบันก็ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะทำงานในเรื่องนี้มาต่อเนื่อง

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง ดร.สุกรี

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง ดร.สุกรี

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง ดร.สุกรี

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง อุทยานฯศรีเทพ

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง อุทยานฯศรีเทพ

ความเห็นชาวเน็ต ฝั่งถือหาง อุทยานฯศรีเทพ




กำลังโหลดความคิดเห็น