วธ. สืบสานศิลปวัฒนธรรมการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค ร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ชิงเงินรางวัลกว่า 1,000,000 บาท
กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2567 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน สร้างมิติใหม่ให้วัฒนธรรมมีความร่วมสมัย ยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าว ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมต.วธ. กล่าวว่า ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างผลงานไว้ ซึ่งแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคจะมีเอกลักษณ์ของดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเฉพาะตัวที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในปัจจุบันดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอด อาจจะเสี่ยงต่อการสูญหายได้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม อนุรักษ์ ผลักดันให้ศิลปะ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ให้คงอยู่ ผ่านการสานต่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนมาตลอดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 16 ผ่านกิจกรรมการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน สำหรับการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านในปีนี้ ยังคงจัดประกวดภายใต้แนวคิด “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ปีนี้เป็นปีที่ 6 โดยเปิดโอกาสให้คณะนักแสดงได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ชุดการแสดงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ประเพณี ที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมเสริม กล่าวต่อว่า สำหรับปีพุทธศักราช 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” เพื่อมุ่งส่งเสริม รักษา ต่อยอด และเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปสู่สายตาประชาชน ซึ่ง สวธ.เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดมาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีคณะนักแสดงที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ภาคละ 5 คณะ รวมทั้งสิ้น 20 คณะ และได้กำหนดการประกวดการแสดงรวมศิลป์พื้นบ้าน 4 ภาค ดังนี้
1.การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567
ณ Convention Hall เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่
2. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 ณ Convention Hall เซ็นทรัล เวสต์เกต จังหวัดนนทบุรี
3. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 ณ Convention Hall เซ็นทรัล อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
4. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ ในวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2567 ณ Convention Hall เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
สำหรับผู้ชนะการประกวดแต่ละประเภทจะได้รับรางวัล ดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
พร้อมเกียรติบัตร
4. รางวัลชมเชย ภาคละ 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
รางวัลละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร