ชวนทึ่งไปกับ “พระพุทธปางกราบพระบรมศพ” นอนหงายเปิดฝาหีบพระบรมศพสุดหายาก ที่ วัดสรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งพระพุทธรูปปางนี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่ง “วันอัฏฐมีบูชา” ที่เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา
“วันอัฏฐมีบูชา” แม้จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งยังไม่ได้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา
วันอัฏฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าหลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ไทย) โดยวันอัฏฐมีบูชาในปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567
ตามพุทธประวัติกล่าวถึงความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ป่าสาละ เมืองกุสินารา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) แล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองนครกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธองค์หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นเวลา 7 วัน ครั้นถึงวันที่ 8 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงได้อัญเชิญพระบรมศพไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันแรม 8 ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือวันอัฏฐมีบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาขึ้นเพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันอันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยการประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น
สำหรับพระพุทธรูปปางที่ถือว่าเป็นดังสัญลักษณ์ของวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งมีการสร้างหีบพระบรมศพไว้ในปางเหล่านั้น ได้แก่ พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง และพระพุทธปางกราบพระบรมศพ ซึ่งหาชมไม่ได้ง่าย ๆ เพราะมีการสร้างไม่มีกี่แห่งในเมืองไทย
โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ที่ “วัดสรรพยาวัฒนาราม” หรือ ที่คนเรียกสั้น ๆ กันว่า “วัดสรรพยา” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
วัดสรรพยาวัฒนาราม สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ เดิมเรียกว่า “วัดเสาธงหิน” และ “วัดวังหิน” เนื่องจากสมัยก่อน บริเวณหน้าวัดมีวังน้ำวน หมุนเป็นเกลียวดูคล้ายเสาหิน ต่อมาในปี พ.ศ.2479 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสรรพยาวัฒนาราม” ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500)
วัดสรรพยา มีโบราณสถานที่เป็นไฮไลต์สำคัญของวัดคือ “วิหารน้อย” ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2435-2445 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 5 เมตร ยาว 11.50 เมตร หันหน้าวิหารไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผนังด้านข้างวิหารเจาะเป็นประตูด้านละ 1 ช่อง
ส่วนผนังด้านหน้าก่อเป็นซุ้มโค้งรูปกลีบบัว มีประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำที่สร้างขึ้นเป็นพระอุเทสิกะเจดีย์ให้คนที่ผ่านไปมาได้เคารพสักการะ เรียกว่า “พระฉาย” เป็นองค์พระพุทธเจ้าประทับเงาพระองค์บนหน้าผา สร้างในลักษณะพระพุทธเจ้าประทับปางถวายเนตร พร้อมอัครสาวกซ้าย-ขวา 2 องค์
ภายในวิหารน้อยประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ปางแหย่เท้า” ที่มีไม่กี่แห่งในเมืองไทย
พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ หลายคนมักเรียกผิดเป็น “พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน” แต่จากข้อมูลของทางวัดสรรพยา ระบุว่า ทั้ง 2 ปาง มีพุทธลักษณะที่แตกต่างกัน คือปางกราบพระบรมศพจะต้องมีรูปพระสงฆ์ ซึ่งก็คือ พระมหากัสสปะร่วมอยู่ด้วยเสมอ ส่วนปางอื่นไม่มี
เนื่องจากตามตำนานในพุทธประวัติ กล่าวว่า...เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) ก่อนที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้แสดงปัจฉิมโอวาทแก่พระอานนท์และพระภิกษุทั้งมวล โดยได้ทรงตั้งอธิษฐานก่อนปรินิพพานว่า เพลิงที่จะเผาพระพุทธสรีระจะติดก็ต่อเมื่อพระมหากัสสปะ (พระสาวกอาวุโส) ได้เดินทางมาเคารพพระบรมศพเสียก่อน
จากนั้นหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว 7 วัน เหล่ามัลลกกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา ได้อัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานไว้บนจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ที่สร้างด้วยไม้หอม ณ บริเวณมกุฏพันธนเจดีย์ เพื่อทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ไม่สามารถจุดไฟให้ติดได้
รุ่งขึ้น (วันที่ 8 หลังปรินิพพาน) เมื่อพระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยเหล่าภิกษุเดินทางมาถึง ก็รีบไปถวายความเคารพพระบรมศพ หลังจากนั้นพระยุคลบาทก็ยื่นทะลุ “รางทอง” หรือ “หีบพระศพ” ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ พระมหากัสสปะและพระภิกษุจึงก้มลงถวายบังคม แล้วไฟก็ได้ลุกโพลงขึ้นเองเผาพระพุทธสรีระที่จิตกาธาน
ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ มีฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้ายื่นทะลุหีบศพออกมา แล้วมีพระอัครสาวกนั่งถวายบังคม
สำหรับพระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพภายในวิหารน้อย มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธเจ้านอนหงาย แล้วยื่นพระบาททะลุหีบพระบรมศพออกมา โดยมีพระมหาอัครสาวลก 5 รูปนั่งถวายบังคม
ขณะที่ด้านบนเพดานมีการติดตั้งกระจกเงาไว้ให้เห็นสะท้อนภาพองค์พระพุทธเจ้าพระทับในหีบพระบรมศพ
ทั้งนี้บรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธานิยมนำหน้าผากไปแตะที่ฝ่าพระบาท แล้วอธิษฐานขอพรด้วย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จสมหวังกันไปเป็นจำนวนมาก
ด้วยความสำคัญและโดดเด่นของพระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพที่มีไม่กี่แห่งในเมืองไทย ซึ่งอยู่คู่กับชุมชนมาช้านาน ทางวัดสรรพยาและชาวบ้านจึงร่วมใจกันจัดงานประเพณีวันอัฏฐมีบูชาขึ้น ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ จัดขึ้นวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2567
สำหรับผู้มาเยือนวัดสรรพยา นอกจากพระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพภายในวิหารน้อยแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ ให้กราบสักการะและเที่ยวชมกัน อาทิ “พระพุทธชินราชจำลอง” พระประธานในพระอุโบสถ รูปเคารพหลวงปู่เฟื่อง หลวงปู่เขียว และพระเกจิชื่อดังอื่น ๆ เจดีย์โบราณ และ “หลวงพ่อพุทธสำเร็จ” องค์สีทองอร่ามที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าทางเข้าวัด
หลวงพ่อองค์นี้สร้างจากแผ่นโมเสครูปนูนต่ำหลวงพ่อพุทธสำเร็จ จำนวนกว่า 1 แสน 7 หมื่นชิ้น เชื่อกันว่าหากได้มากราบไหว้ นอกจากจะประสบความสำเร็จแล้ว ยังเท่ากับเราได้กราบพระนับแสนองค์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ภายในชุมชนสรรพยายังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ “โรงพักเก่า ร.ศ. ๑๒๐” หรือ (อดีต) “สถานีตำรวจภูธรสรรพยา” อายุกว่า 120 ปี ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี รศ. 120 หรือปี พ.ศ.2444 ซึ่งยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมและความสวยงามคลาสสิกเอาไว้ได้เป็นอย่างดี การันตีด้วย “รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น” ประจำปี 2561 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ขณะที่บริเวณ “ย่านตลาดโรงพักเก่าสรรพยา” ที่เป็นกลุ่มอาคารบ้านไม้เรือนแถว 2 ชั้น เรียงรายริมเจ้าพระยานั้นก็จะมีการจัดกิจกรรม ถนนคนเดิน “ตลาดกรีนดี” (เวลา 15.00 – 20.00 น.) มุ่งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุก ๆ วันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของสรรพยา ชุมชมเล็ก ๆ ริมฝั่งเจ้าพระยาที่มีของดีในระดับประเทศให้ได้เคารพสักการะและชื่นชมในความสวยงามคลาสสิกสุดอันซีนที่หาชมได้ยากยิ่งในเมืองไทย