xs
xsm
sm
md
lg

5 “หน้ากาล” น่าทึ่ง บนทับหลังสุดคลาสสิก เหมือน “ลาบูบู้” ที่โดนเคลมตรงไหน? เอาปากกามาวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


หน้ากาลไม่ใช่บรรพบุรุษลาบูบู้ โปรดอย่าเคลม
พาไปสัมผัสกับ 5 หน้ากาล อันน่าทึ่งบนทับหลังของปราสาทหินในบ้านเรา ซึ่งแม้บางชิ้นจะมีลักษณะอันโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทยและในโลก แต่ว่าก็ไม่สามารถนำไปเคลมว่าเป็นบรรพบุรุษของ “ลาบูบู้” ที่กำลังฟีเวอร์ได้ด้วยประการทั้งปวง

พลันที่ “ลิซ่า” โพสต์ภาพคู่กับน้อง “ลาบูบู้” หลังจากนั้นเพียงชั่วข้ามคืน ได้เกิดกระแส ”ลาบูบู้ฟีเวอร์” ขึ้นในเมืองไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก

ลิซ่าโพสต์ภาพกับลาบูบู้ลง IG (ภาพ : IG @lalalalisa_m)
สำหรับลาบูบู้ (LABUBU) เป็นหนึ่งในจักรวาล “The Monsters” จากอาณาจักร POP MART ที่ถือกำเนิดโดย “คาซิง ลุง” (Kasing Lung) ศิลปินชาวฮ่องกง ผู้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายยุโรป และนำมาผสมผสานกับเรื่องราวของเอลฟ์ จนกลายเป็นอาร์ตทอยสุดน่ารัก

หลังลิซ่าสร้างกระแสสุดฟีเวอร์ นอกจากจะทำให้ลาบูบู้ขายดีถล่มทลายจนหมดเกลี้ยงขาดตลาดในหลาย ๆ ที่แล้ว ยังเกิดการเคลมน้องลาบูบู้จนกลายเป็นไวรัลจากชาวเน็ตประเทศเพื่อนบ้าน ว่า...ลาบูบู้นั้นมาจากภาพสลักหน้ากาลที่ปรากฏบนปราสาทหินในประเทศของเขา แถมชาวเน็ตเพื่อนบ้านบางคนระบุชัดลงไปเลยว่ามาจากหน้ากาลของ “ปราสาทบันทายศรี” ที่ขึ้นชื่อในเรื่องภาพสลักหินอันประณีตวิจิตร

จากหน้ากาลสู่ลาบูบู้ที่โดนเคลม (ภาพ : เพจ ASEAN skyline)
ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับหน้ากาล ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมศาสนสถานโดยเฉพาะปราสาทหินต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ คนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับตัวหน้ากาลกันมาบ้างไม่มากก็น้อย

“หน้ากาล” (Kala face) หรือ “เกียรติมุข” หรือ “สิงหมุข” มาจากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะเป็นรูปหน้ายักษ์ผสมสิงห์ที่มีแต่ใบหน้าไม่มีลำตัว มีหน้าตาดุร้าย นัยน์ตาถลนโปน คิ้วขมวด จมูกใหญ่ ปากกว้างมีฟันบนโผล่ออกมา มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะที่สวมเครื่องประดับ

หน้ากาล คือ ผู้ที่กลืนกินทุกสรรพสิ่งแม้แต่ตัวเอง เปรียบดังกาลเวลาที่กลืนกินทุกอย่าง นอกจากนี้ กาล (กาละ) ยังเป็นชื่อหนึ่งของ “พระยม” ผู้พิพากษาคนตายในอาถรรพเวทของศาสนาฮินดูอีกด้วย

อาร์ตทอย ลาบูบู้ (ภาพ : popmart.com)
ความเชื่อเรื่องหน้ากาลปรากฏในหลายประเทศของไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมไปถึงในประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยมีหลักฐานว่าพบงานศิลปกรรมหน้ากาลมาตั้งแต่สมัยทวารวดี

คนสมัยก่อนมีความเชื่อว่า หน้ากาลคือผู้ปกป้องดูแลรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปภายในศาสนสถาน ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างลวดลายหน้ากาลประดับไว้เหนือประตูทางเข้าศาสนสถานเพื่อเป็นดังสิ่งคุ้มครองป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในศาสนสถานนั้น ๆ

หน้ากาลผู้กลืนกินทุกสรรพสิ่ง (บนทับหลังปราสาทบ้านพลวง)
สำหรับภาพจำของหน้ากาลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย คือภาพลวดลายหน้ากาลที่สลักบนทับหลังของปราสาทหินต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่หน้ากาลจะเป็นตัวรองอยู่ด้านล่าง ส่วนเหนือหน้ากาลขึ้นไปจะเป็นบรรดาทวยเทพต่าง ๆ ตามความเชื่อ อย่างเช่น พระศิวะ พระยม พระอินทร์ เป็นต้น

ในบ้านเรามีทับหลังของปราสาทหินที่มีรูปหน้ากาลปรากฏอยู่มากมาย และนี่คือ 5 หน้ากาลคัดสรรชวนชม บนลวดลายทับหลังที่มีความสวยงามน่ายล และมีองค์ประกอบตามความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป

หน้ากาล ปราสาทบ้านพลวง


ปราสาทบ้านพลวง จ.สุรินทร์
ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ต.กังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายและอิฐ มีปรางค์ประธานองค์เดียวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีคูน้ำล้อมรอบ

แม้จะเป็นปราสาทขนาดเล็ก แต่ปราสาทบ้านพลวงมีลวดลายสลักหินที่งดงามอ่อนช้อยในหลายจุดด้วยกัน โดยเฉพาะบนทับหลัง โดยทับหลังด้านทิศเหนือเป็นภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ

ทับหลังปราสาทบ้านพลวง
ส่วนทับหลังด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ จำหลักเป็นรูป “พระอินทร์”ทรงช้างเอราวัณอยู่บน “หน้ากาล” ซึ่งทั้ง 2 ด้าน มีลวดลายที่แตกต่างกัน โดยด้านทิศตะวันออกจะมีรูปสัตว์ต่าง ๆ สอดแทรกอยู่เหนือกรอบทับหลัง สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์

ภาพพระอินทร์บนหน้ากาลในทับหลังปราสาทบ้านพลวงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่นักวิชาการใช้สันนิษฐานว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานชุมชนที่ใช้สำหรับบูชาพระอินทร์เมื่อครั้งในอดีต

หน้ากาล ปราสาทเมืองต่ำ


ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นศิลปะแบบบาปวน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 เพื่อเป็นเทวสถานของลัทธิฮินดูไศวนิกาย ตัวปราสาทหลักเป็นปรางค์อิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ทับหลังภาพพระศิวะปางอุมามเหศวร ปราสาทเมืองต่ำ
ที่ปราสาทเมืองต่ำมีหน้ากาลแกะสลักบนทับหลังหลายชิ้นด้วยกัน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือทับหลังที่องค์ปรางแถวหน้าด้านทิศเหนือ ซึ่งแกะสลักเป็นภาพพระศิวะปาง “อุมามเหศวร” ประทับบนโคนนทิ ที่ยืนอยู่บนตัวหน้ากาลที่ 2 มือกำลังจับขาตัวสัตว์ที่ยืนจับเถาพวงมาลัยอีกที โดยมีลวดลายพรรณพฤกษาศิลปะแบบบาปวนที่สมบูรณ์ เติมเต็มในองค์ประกอบของทับหลังชิ้นนี้

หน้ากาล ปรางค์สองพี่น้อง มรดกโลกศรีเทพ


ปรางค์สองพี่น้อง เมืองโบราณศรีเทพ
“ปรางค์สองพี่น้อง” เป็นหนึ่งในโบราณสถานสำคัญของ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” แห่ง “เมืองโบราณศรีเทพ” อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ มรดกโลก (แห่งล่าสุด) ลำดับที่ 7 ของไทย

ปรางค์สองพี่น้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมศิลปากร) ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ใหญ่เล็ก ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

รูปหน้ากาลจับนาคบนทับหลังแห่งมรดกโลกหนึ่งเดียวในไทย
ปรางค์องค์ใหญ่สูงราว 7 เมตร ส่วนปรางค์องค์เล็กที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลัง มีไฮไลต์สำคัญคือทับหลังรูป “อุมามเหศวร” ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเป็นทับหลังที่มีสภาพและลวดลายดูสมบูรณ์ที่สุดหนึ่งเดียวแห่งมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ (ลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุขององค์ปรางค์)

ทับหลังรูปอุมามเหศวรเป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด แกะสลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ที่ยืนอยู่บนตัวหน้ากาลอีกที ท่ามกลางลวดลายพรรณพฤกษาศิลปะแบบบาปวน

มีความเชื่อว่าหน้ากาลช่วยกลืนกินสิ่งชั่วร้าย จึงมีคนนิยมมาลอดประตูปรางค์องค์เล็ก
หน้ากาลตัวนี้มีลักษณะแปลกแตกต่างจากหน้ากาลบนทับหลังอื่น ๆ เพราะเป็นหน้ากาลที่ไม่กลืนกินหรือคายอะไรออกมา แถมยังโผล่ออกมาไม่เต็มหน้า ที่สำคัญคือหน้ากาลตัวนี้ มือซ้าย-ขวากำลังจับยึดนาคสามเศียรมีรัศมี เลื้อยออกมาจากเถาพวงมาลัยซึ่งเป็นศิลปะแบบนครวัด (คล้ายนาคบนสะพานนาคที่ปราสาทหินพิมาย) ซึ่งน่าจะเป็นทับหลังที่มีตัวหน้ากาลจับยึดนาคหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่พบเจอ ณ ปัจจุบัน

ตามความเชื่อเรื่องหน้ากาลเป็นผู้ปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในศาสนาสถาน ปัจจุบันจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมไปเดินลอดประตูใต้ทับหลังรูปอุมามเหศวร โดยเชื่อว่าหน้ากาลแห่งมรดกโลกตัวนี้จะช่วยกลืนกินสิ่งชั่วร้ายสิ่งไม่ดีออกไปจากตัวเรา ซึ่งนี่ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ที่แน่ ๆ วันนี้นี่คือหน้ากาลบนทับหลังปราสาทหินหนึ่งเดียวในเมืองไทยอย่างจริงแท้แน่นอน (เพราะปราสาทหินอื่น ๆ ในบ้านเรายังไม่มีที่ใดเป็นมรดกโลก)

หน้ากาล ปราสาทศีขรภูมิ


ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์
ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศิลปะนครวัด ประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ปราสาทศีขรภูมิ แม้เป็นปราสาทขนาดเล็กแต่ได้ชื่อว่าเป็นปราสาทหินที่มีภาพสลักหินบนทับหลังที่สวยที่สุดในเมืองไทย โดยช่างโบราณได้แกะสลักเป็นลวดลาย “ศิวนาฏราช” ภาพพระศิวะ 10 กร กำลังวาดลีลาร่ายรำบนหงส์ 3 ตัว เหนือหน้ากาล โดยมีเทพอีก 4 องค์ คือ พระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมา (มเหสีของพระศิวะ) ร่วมในพิธี

ทับหลังปราสาทศีขรภูมิได้ชื่อว่าสวยที่สุดในเมืองไทย
สำหรับตัวหน้ากาลบนทับหลังชิ้นนี้ถูกยกให้เป็นหน้ากาลแกะสลักที่ดูมีชีวิตและสวยที่สุดในเมืองไทยเช่นกัน โดยช่างได้บรรจงแกะสลักออกมาได้อย่างสุดวิจิตร ตัวหน้ากาลแลบลิ้นออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยม ลักษณะคล้ายกลีบบัว ฟันแถวบนมีขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีลวดลายประจำยามประดับระหว่างคิ้วทั้งสอง ศีรษะตกแต่งด้วยกะบังหน้ามีลายใบไม้ ลายประจำยาม ที่มือ 2 ข้างกำลัง จับสิงห์ที่ยืนกุมดอกบัวร้อยเรียงเป็นมาลัยโค้ง ร่วมด้วยลวดลายประดับอื่น ๆ ที่ช่างโบราณแกะออกมาได้อย่างงดงามวิจิตร อ่อนช้อย ประณีต ดูมีชีวิต

ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
นอกจากนี้ปราสาทศรีขรภูมิยังมีภาพสลัก “นางอัปสรา” ที่สวยที่สุดในเมืองไทย ยืนถือดอกไม้บนกรอบเสาประตู ถือเป็นอีกหนึ่งจุดชมที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

หน้ากาล ปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่ “อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง” อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่องค์ประกอบได้รับการยกย่องว่าเป็นปราสาทหินที่งดงามที่สุดในเมืองไทย
16 ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 และมีการบูรณะเรื่อยมา โดยเคยเป็นทั้งศาสนาสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และศาสนสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
สำหรับหนึ่งในจุดไฮไลต์ต้องห้ามพลาดของปราสาทหินพนมรุ้งก็คือ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่อยู่ทางประตูทิศตะวันออกของปราสาทประธาน

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งทับหลังชิ้นหนึ่งของโลก ทั้งลวดลาย เรื่องราวและชื่อเสียง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกโจรกรรมไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกาอยู่หลายปี ก่อนที่จะทวงคืนกลับสู่ประเทศไทยเมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2531

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์แกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์กำลังบรรทม (นอน) ตะแคงขวาบนพระยาอนันตนาคราช ที่ทอดตัวอยู่ท่ามกลางเกษียรสมุทร พร้อมด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ช่วยหนุนส่งกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็น ครุฑ นกแก้ว ลิง ดอกบัว ชายผ้า เครื่องประดับ อาวุธ เป็นต้น

หน้ากาลคู่ที่ปัจจุบันเหลือเพียงหนึ่งบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
สำหรับตัวหน้ากาลที่สลักบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้นก็ถือว่าแปลกแตกต่างจากทับหลังทั่วไป เพราะเป็นตัวหน้ากาลคู่ (ทับหลังทั่วไปจะมีหน้ากาลอยู่ตัวเดียวตรงกลางช่วงล่าง) อยู่ขนาบริมซ้าย-ขวา ของทับหลัง กำลังคายพวงอุบะขนาดใหญ่ที่มีนกแก้วเกาะอยู่ 2 ข้าง ส่วนเหนือขึ้นไปมีครุฑกำลังยืนจังก้าอยู่

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันภาพสลักหน้ากาลคู่ไม่มีให้ชมแล้ว เพราะทับหลังนารายบรรทมสินธุ์ที่ได้คืนมาจากอเมริกาก่อนนำมาไว้ ณ ที่เดิมนั้น มีสภาพเสียหายแตกเป็นส่วน โดยส่วนของหน้ากาลทางฝั่งริมด้านซ้ายหายไป เหลือเฉพาะเพียงหน้ากาลทางฝั่งริมด้านขวา (เมื่อมองเข้าไป) ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ให้ชมกันเท่านั้น

ภาพทับหลังในอดีตที่ยังมีตัวหน้ากาลฝั่งริมซ้ายอยู่ (ภาพ : เพจ โบราณนานมา)
ขณะที่หลักฐานภาพทับหลังช่วงก่อนถูกโจรกรรมนั้นยังคงปรากฏภาพครุฑและตัวหน้ากาลทางฝั่งริมซ้ายในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าปวดใจที่เกิดจากการกระทำของคนในประเทศที่อ้างว่าศิวิไลซ์แต่กลับเลือกขโมยโบราณวัตถุชิ้นเอกคุณค่าระดับโลกของประเทศที่เล็กกว่าไปครอบครองอย่างหน้าด้าน ๆ

และนี่ก็คือ 5 ตัวหน้ากาลบนปราสาทหิน 5 แห่งที่มีลักษณะเด่นแตกต่างกันออกไป หน้ากาลบนทับหลังบางปราสาทถือว่ามีหนึ่งเดียวในไทย หรืออาจจะมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก นับเป็นอีกหนึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนโบราณ ซึ่งตัวหน้ากาลที่ปรากฏตามศาสนาสถานในหลายประเทศนั้น ไม่สามารถนำไปเคลมว่าเป็นบรรพบุรุษของ “ลาบูบู้” ได้แต่อย่างใด?

ทับหลังรูปหน้ากาล ปราสาทเมืองต่ำ ศิลปะบาปวน




กำลังโหลดความคิดเห็น