ชมความงามยามค่ำคืนท่ามกลางแสงไฟที่ “พระราชวังพญาไท” ที่ตอนนี้มาในรูปแบบ Night Museum จัดเต็มแสงสีเสียง ในงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 16 มี.ค.67
หนึ่งในกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดในช่วงนี้คือ “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ที่มาในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) เพื่อเฉลิมฉลอง 101 ปี “พระราชวังพญาไท” สถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
โดยนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะได้รับชมความงามของพระราชวังพญาไทในรูปแบบแสงสีเสียงแห่งราตรี พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน และตื่นตาตื่นใจกับความงามอันทรงพลัง ให้ผู้คนได้ชื่นชมในงานศิลปะที่สร้างจากการฉายแสงภาพบนอาคาร มีการเคลื่อนไหวเสมือนเข้าสู่ภาพศิลปะนั้น ทั่วทุกหมู่องค์พระที่นั่งในพระราชวังพญาไท อย่างวิจิตร อลังการ ตราตรึงอยู่ในใจของผู้ที่เข้ามารับชม
ภายในงาน มีความน่าสนใจในหลายๆ จุด และสำหรับไฮไลต์ของงานนี้จะมีอะไรบ้าง ชวนไปทำการบ้านก่อนจะไปชมงานจริง
101 ปี “พระราชวังพญาไท” สถานที่อันทรงคุณค่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
“พระราชวังพญาไท” ตั้งอยู่ที่ถนนราชวิถี ในพื้นที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ย้อนอดีตไปเมื่อพ.ศ.2451 รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดซื้อที่สวนและนา บริเวณริมคลองสามเสนติดกับทุ่งพญาไทเป็นที่แปรพระราชฐาน เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถและทดลองปลูกธัญพืชต่างๆ โดยจัดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับหลังเล็กขึ้น พระราชทานนามว่า “พระตำหนักพญาไท”
พระตำหนักแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทำนา ปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ บริเวณทุ่งพญาไท อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีแรกนาขวัญ ต่อมาเมื่อทรงโปรดที่จะเสด็จประพาสพระตำหนักแห่งนี้บ่อยครั้งขึ้น จึงได้ทรงพระราชทานนามใหม่เป็น “วังพญาไท”
ล่วงมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดที่จะเสด็จมาประทับ ณ วังพญาไทแห่งนี้เป็นครั้งคราว และยังได้ทูลเชิญสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดา มาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ด้วย จนกระทั่งพระราชมารดาสวรรคตเมื่อปี 2463
และในปีนั้นเอง พระองค์ได้ทรงรื้อพระตำหนักพญาไท เหลือไว้เพียง “พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” ซึ่งเป็นท้องพระโรง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายพระองค์ รวมทั้งได้รับการสถาปนาวังพญาไทเป็น “พระราชวังพญาไท” และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญแห่งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายดุสิตธานีจากพระราชวังดุสิตมาสร้างเป็นเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วนขึ้น ภายในพระราชวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ.2462
ต่อมาในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศ เพื่อพระราชทานความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขาย แต่พระองค์ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ ๗ จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งขึ้นนามว่า “โฮเต็ลพญาไท” และเปิดบริการเมื่อปี 2468
จากนั้นในปี 2473 ได้เปลี่ยนโฮเต็ลพญาไทเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุแห่งแรกของไทย กระทั่งปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ย้ายสถานีวิทยุไปที่ศาลาแดง และให้สถานพยาบาลกองทัพบกเข้ามาอยู่แทน แต่เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยเป็นพระราชวังในรัชกาลที่ ๖ มาแต่เดิม และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ กองทัพบกจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา
ภาพเคลื่อนไหวบนอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
ชมการฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว ร่วมกับการแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมฉายบนอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ที่ยิ่งเสริมความงามวิจิตรให้กับสถาปัตยกรรมที่ยามค่ำคืน
“พระที่นั่งพิมานจักรี” เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังพญาไท พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับของ ร.๖ และพระมเหสี ลักษณะตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมทรงโรมันเนสก์ผสมกับทรงกอธิค โดยจุดเด่นของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งในอดีตใช้สำหรับชักธงมหาราชขึ้นเหนือพระที่นั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ บานประตูเป็นแบบไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖" ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖
“พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน” เป็นพระที่นั่งก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น และได้ต่อเติมเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นในภายหลัง พระที่นั่งองค์นี้มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ในชั้นที่ 2 โดยชั้นที่ต่อเติมขึ้นมาในภายหลังจัดเป็นห้องพระบรรมทมและห้องสรงส่วนพระองค์ และเคยถูกใช้เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงด้วย
แสงไฟงดงามภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟเพื่อนำเสนอสถาปัตยกรรมอันงดงามภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
“พระที่นั่งเทวราชสภารมย์” เคยเป็นท้องพระโรงเดิมที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซ็นไทน์ ในสมัยพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยยังปรากฏอักษรพระนามาภิไธย สผ ซึ่งเป็นพระนามเดิมคือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี มีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุน 4 ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา ทาสีฉูดฉาดหลายสี
ห้องธารกำนัล แรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์
จัดแสดง PROJECTION MAPPING ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบทพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภายใน ห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก บริเวณพระที่นั่งพิมานจักรี
“ห้องธารกำนัล” ตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของพระที่นั่งพิมานจักรี เคยใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะ และเป็นที่เสด็จลงทรงรับแขก ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นโฮเต็ลพญาไทจึงใช้ห้องนี้เป็นห้องอาหารของโรงแรม
งานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณ จากพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา”
สัมผัสบรรยากาศของพระราชวังพญาไท ผสมผสานจินตนาการในโลกศิลปะของการแสดงแสง สี เสียงอันน่าอัศจรรย์ ด้วยการยิง PROJECTION MAPPING เข้าส่วนหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง โดยนำบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เรื่อง “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ มาดำเนินเรื่อง
ระหว่างรอบการยิง PROJECTION MAPPING จะมีนางรำออกมาทำการแสดงพร้อมกับบทละครมัทนะพาธา วันละ 5 รอบ ได้แก่ 19.00 น. / 19.30 น. / 20.00 น. / 20.30 น. / 21.00 น.
และใกล้ๆ กันก็จะเป็นสวนโรมัน ที่ตกแต่งด้วยดอกกุหลาบสีแดง แรงบันดาลใจจากบทละครมัทนะพาธา พร้อมเสียงดนตรีประกอบ
แสงไฟบนสนามหญ้าและต้นไม้ยักษ์
แสงสิเน่หา ณ แรกรัก สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงที่ประดับประดาบริเวณสนามหญ้า และ ต้นไม้ยักษ์ ตื่นตาตื่นใจกับเทคนิค Glass Screens อันงดงามมีมิติ
ดอกบัวนับพันบนเส้นทางสักการะ "ท้าวหิรัญพนาสูร"
ดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวนับพันดอกด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ตามเส้นทางไปสักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร”
“ท้าวหิรัญพนาสูร” เป็นเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท มีตำนานว่าเป็นอสูรผู้ติดตามอารักขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังเป็นมงกุฏราชกุมาร เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ มีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงสถิตย์เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทสืบไป ปัจจุบันคนนิยมมาขอพรให้คลายจากอาการเจ็บป่วย ขอให้สุขภาพดี และปราศจากเภทภัยทั้งปวง
นอกจาก 7 ไฮไลต์นี้แล้ว ภายในงานยังมีจุดถ่ายภาพสวยๆ อีกหลายแห่ง ใครที่อยากได้ภาพสวยๆ จะใส่ชุดไทยมาเดินถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย และหากว่าใครหิว ด้านหลังงานก็ยังมีฟู้ดทรัคหลากหลายร้านให้มาอิ่มอร่อยรองท้องกันได้
งาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 16 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี เขตพญาไท กทม.
กิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็นโซนที่สามารถเข้าชมได้ฟรี และโซนที่ต้องซื้อบัตรเข้าชม
Free Area
โซน 1 การฉายภาพแสง และงานออกแบบภาพเคลื่อนไหว พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
โซน 2 นิทรรศกาลจัดแสดงแสงไฟ ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
Ticket Area
โซน 3 Projection Mapping จากบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
โซน 4 งานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณ จากพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา”
โซน 5 สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวง
โซน 6 ความงดงามของดอกบัวนับพันดอก ตามเส้นทางไปสักการะท้าวหิรัญพนาสูร
นอกจากนี้ ยังสามารถแวะพักผ่อนและชิมเครื่องดื่มได้ ณ ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณส่วนหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยจะเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00 - 20.30 น. ของทุกวัน
สามารถจองบัตรผ่าน 3 ช่องทาง คือ
ZIP EVENT
KK DAY
AGODA
หรือสามารถซื้อบัตรได้ที่หน้างาน และสามารถอัพเดตข้อมูลหรือกิจกรรมข่าวสาร งานเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) เพิ่มเติมได้ที่
Instagram : @101wangphyathai
Facebook : 101wangphyathai
ส่วนผู้ที่สนใจเข้าชม “พระราชวังพญาไท” ก็มีการเปิดให้เข้าชมในรอบปกติ ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์
วันละ 2 รอบ เวลา 09.30 น. และ 13.30 น. พร้อมวิทยากรนำชม
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 40 บาท / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 20 บาท / เด็ก 10 บาท / พระภิกษุ นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ เข้าชมฟรี
(โปรดแต่งกายสุภาพ งดเสื้อแขนกุด กระโปรงสั้น กางเกงขาสั้น)
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline