“...เหตุที่ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนนั้น เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีต่าง ๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น ได้ตามเสด็จเห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติ ก็คิดว่าช่วยอะไรควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแส หรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทำประจำอยู่แล้ว...”
ความตอนหนึ่ง จากการพระราชทานสัมภาษณ์ของ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ในปี พ.ศ. 2528 แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือที่คนไทยนิยมเรียกพระองค์ท่านสั้น ๆ ว่า “กรมสมเด็จพระเทพฯ” เป็นเจ้าฟ้านักพัฒนาอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
พระองค์ท่านทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ มาอย่างมากมายและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ทรงพระราชทานพระราชดำริให้มีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนา ซึ่งพระองค์ทรงเรียนรู้งานจากการตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ
วันนี้สถานที่หลาย ๆ แห่งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ นอกจากจะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนแล้ว ยังถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว-พักผ่อนหย่อนใจ ให้ผู้สนใจได้เดินทางไปสัมผัสเที่ยวชมสถานที่ใต้พระบารมีของเจ้าฟ้านักพัฒนาองค์นี้กัน
และนี่ก็คือ 5 สถานที่ท่องเที่ยวที่มีพระนามาภิไธย “สิรินธร” ใน “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีความโดดเด่นและสิ่งน่าสนใจในระดับที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
1.วัดสิรินธรเทพรัตนาราม
“วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” (ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม) เป็นวัดในพระนามาภิไธยในกรมสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานที่ดินจำนวนกว่า 60 ไร่ ให้สร้างวัดในพระพุทธศาสนา (ตามเจตนาของผู้ถวายที่ดิน) เมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2546
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระนามาภิไธย เป็นนามวัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” พร้อมทั้งทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
วัดแห่งนี้เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับพระราชทานพระนามาภิไธยเป็นนามวิทยาเขตว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” และมีศูนย์เด็กเล็กนามว่า “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” มีมูลนิธินามว่า “มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย”
วัดสิรินธรเทพรัตนาราม มีสิ่งสำคัญน่าเที่ยวชม ได้แก่ “พระอุโบสถ” หน้าบันประดิษฐานพระนามาภิไธย ย่อ ส.ธ. ภายในมีพระพุทธสิหิงค์จำลองเป็นองค์พระประธาน, พระรูปเหมือนพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ), พระรูปเหมือนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นต้น
2.เขื่อนสิรินธร
“เขื่อนสิรินธร” (ต.นิคมลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี) เดิมมีชื่อว่า “เขื่อนลำโดมน้อย” เริ่มก่อสร้างปี 2511 แล้วเสร็จปี 2514
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยของกรมสมเด็จพระเทพฯ มาขนานนามเขื่อนว่า “เขื่อนสิรินธร” และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนดินเอนกประสงค์ที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า การชลประทาน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอุบล
วันนี้เขื่อนสิรินธรยังมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจาก โครงการ “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมากถึง 145,000 แผง บนผืนน้ำอันกว้างใหญ่พื้นที่กว่า 450 ไร่
เขื่อนสิรินธรยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์คือ “Nature Walkway” เป็นทางเดินบนเรือนยอดไม้ มีความยาว 415 เมตร ที่นอกจากจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ของทะเลสาบในเขื่อนสิรินธรแล้ว ยังสามารถมองเห็นที่ตั้งของแผงโซล่าเซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกกลางทะเลสาบได้อย่างสวยงาม
3.พิพิธภัณฑ์สิรินธร
“พิพิธภัณฑ์สิรินธร” (ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์) เดิมเป็น “ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว” ในปี พ.ศ.2537 มีการขุดพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ.2538 กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรซากกระดูกไดโนเสาร์ และทรงจัดตั้งโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวขึ้น จากนั้นในปี พ.ศ.2550 ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้รับพระราชทานนามจากกรมสมเด็จพระเทพฯว่า “พิพิธภัณฑ์สิริธร”
พิพิธภัณฑ์สิริธร ได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ดีที่สุดในอาเซียน
ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ถึง 8 โซนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องโลกและจักรวาล เล่าต่อเนื่องมาตามยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและตัวชูโรงอย่าง “ไดโนเสาร์” ที่นอกจากจะนำเสนอเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่อื่นๆ แล้ว ก็ยังพูดถึงการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ 8 สายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบได้เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น โดยได้จัดแสดงไว้อย่างอลังการบริเวณโถงกลาง
รวมถึงมีหุ่นจำลอง “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส” ที่ยืนเด่นกลางโถงอ้าปากแยกเขี้ยวทำหน้าถมึงทึง ซึ่งเจ้าตัวนี้ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ เพราะมันเป็นบรรพบุรุษของ “ไทรันโนซอรัส เร็กซ์” หรือ “ที-เร็กซ์” จอมโหดแห่งเรื่อง “จูราสสิค เวิลด์” นั่นเอง
4.ป่าพรุสิรินธร
“ป่าพรุสิรินธร” เป็นหนึ่งในป่าพรุผืนสำคัญยิ่งของเมืองไทย มีเนื้อที่กว่า 120,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอใน จ.นราธิวาส คือ สุไหงโก-ลก ตากใบ สุไหงปาดี และอำเภอเมือง
ป่าพรุแห่งนี้เดิมชื่อ “ป่าพรุโต๊ะแดง”แต่เนื่องจากกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ มาเยือนหลายครั้ง คนจึงเรียกขานกันว่า “ป่าพรุสิรินธร” ซึ่งมี “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง)” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ระบบนิเวศป่าพรุชั้นดีที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย
ศูนย์วิจัยฯ ป่าพรุสิรินธร (ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ในรูปแบบของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต” มีทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติทางบกและทางน้ำให้ได้สัมผัสกัน นำโดย “เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร” ซึ่งเป็นเส้นทางไฮไลท์สำคัญของที่นี่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร มีระยะทาง 1,200 เมตร สร้างเป็นสะพานไม้ตัดลัดเลาะเข้าไปในพื้นที่ป่าพรุอย่างกลมกลืนสวยงาม
ตลอดทางเดินจะมีฐานให้ความรู้เคียงคู่ไปเป็นระยะ ๆ โดยสิ่งน่าสนใจในเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ก็มีให้ทัศนากันอย่างหลากหลาย โดยความสัมพันธ์ของระบบนิเวศทั้งหมดในป่าพรุแห่งนี้ ทางศูนย์วิจัยฯป่าพรุสิรินธรได้สะท้อนแนวคิดออกมาเป็นป้ายข้อความว่า “พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน”
5.อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร
“อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” (ค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี) เดิมบริเวณนี้ประสบปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าและป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ทำให้ดินแถวนั้นไม่สามารถปลูกพืชได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะเนื่องจากไม่มีต้นไม้มาเป็นแนวกันตะกอน
ต่อมากรมสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานพระราชดำริ และทรงปลูกต้นโกงกางด้วยพระองค์เอง เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนสำหรับเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งกักตะกอนที่ถูกฝนชะลงไม่ไห้ไหลลงไปในทะเล ช่วยชะลอความเร็วและความแรงของคลื่นที่ซัดเข้ามา พร้อมทั้งทรงรับสั่งให้ฟื้นฟูแหล่งดินเสื่อมโทรมเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับศึกษาระบบนิเวศที่ได้รับการปรับตัวหลังจากฟื้นฟูพื้นที่แล้ว
ปัจจุบันอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์เรียนรู้เพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริ
ภายในอุทยานฯ มีแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ อาทิ นิทรรศการพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสีย แหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม ที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2537 จนกระทั่งมีสภาพอุดมสมบูรณ์และสวยงามในปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
นอกจากนี้ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่สนใจได้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย
สำหรับกรมสมเด็จพระเทพฯ พระองค์ พระองค์ท่านทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ มากมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จนถูกยกให้เป็น “เจ้าฟ้านักพัฒนา” อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
ดังนั้นใครที่มีพฤติกรรมหยามพระเกียรติ จาบจ้าง คุกคาม พระองค์ท่าน นอกจากจะถูกผู้คนสาปแช่งก่นด่าแล้ว ชีวิตนี้ย่อมประสบแต่เรื่องไม่ดีแน่นอน