xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนาน “พญาศรีสัตตนาคราช” นครพนม - “ปู่อือลือนาคราช” บึงกาฬ หลัง “เจนี่” องค์ลง เป็นไวรัลดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตำนาน พญานาค “พญาศรีสัตตนาคราช” จ.นครพนม และ “ปู่อือลือนาคราช” ที่บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังดาราดัง “เจนี่ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร” ไปรำถวายและทำพิธีบวงสรวง จนเกิดอาการดูคล้ายองค์ลงกลายเป็นไวรัลโด่งดังบนโลกโซเชียล

ดังนั้นเราจึงอยากชวนมาทำความรู้จัก ตามรอยความศรัทธาความเชื่อเรื่ององค์พญานาคทั้งสองแห่งนี้กันอีกครั้ง


“พญาศรีสัตตนาคราช” อ.เมือง จ.นครพนม
“พญาศรีสัตตนาคราช” บริเวณริมฝั่งโขง ในตัวเมืองนครพนม เชื่อกันว่าเป็นพญานาคผู้สั่งสมบารมีแก่กล้ามีอิทธิฤทธิ์ล้ำเลิศ และเป็นผู้ให้กำเนิดแม่น้ำ “อุรงคนที” หรือ “แม่น้ำโขง” ในปัจจุบัน


ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดนครพนมจึงได้ดำเนินการสร้างประติมากรรมพญาศรีสัตตนาคราชขึ้น พร้อมลานพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหยอนใจ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดนครพนม


พญาศรีสัตตนาคราชตนนี้สร้างขึ้นด้วยแนวคิดว่า พญานาคกำลังโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำโขง มีปลายหางอยู่กลางสระน้ำ พร้อมน้ำพุรอบ 8 ทิศ เพื่อให้เห็นว่าพญานาคกำลังเลื้อยขึ้นมาจากแม่น้ำโขงเพื่อมาอยู่ที่ดินแดนแห่งความสุขแห่งนี้ โดยมีซุ้มลำตัวพญานาคเป็นลายโปร่งแสง แสดงการลอกคราบ สื่อถึงการละทิ้งหลุดสิ้นจากกิเลส ส่วนหัวมุดลงไปใต้ฐานแท่นประทับ แล้วโผล่เศียรขึ้นมาเป็นองค์พญาศรีสัตตนาคราช มีขนดลำตัว 3 ชั้น มี 7 เศียร ชูคอสง่างาม พ่นน้ำ และเศียรทะยานไปข้างหน้า สื่อความว่า เพื่อพัฒนานครพนมให้เจริญรุ่งเรืองและคงอยู่กับดินแดนแห่งนี้ตลอดไป

ปู่อือลือนาคราช จ.บึงกาฬ (ภาพ : ททท.สำนักงาน อุดรธานี)
“ปู่อือลือนาคราช” อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ

ข้อมูลจากเทศบาลบึงโขงหลงระบุเกี่ยวกับตำนานปู่อือลือนาคราช ณ บึงโขงหลง พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของบึงกาฬไว้ว่า

ตามตำนานปู่อือลือที่ข้องเกี่ยวกับบึงโขงหลงนั้น เชื่อว่า เกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย

บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมือง ชื่อ รัตพานคร มี พระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อ นางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อ เจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ และมีรูปงามด้วย ขณะประสูติมีท้องฟ้าสว่างไสว ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาล ที่แปลงกายเป็นมนุษย์

พิธีบวงสรวงปู่อือลือ (ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ)
การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬาร ทั้งเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์ (รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับ พระเจ้าอือลือราชา ในโอกาสนี้ด้วย

ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม

ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนตร์กลับเป็นมนุษย์ ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น

เครื่องบวงสรวงปู่อือลือ (ภาพ : ททท.สำนักงาน อุดรธานี)
หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกไพร่พลมาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้ พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น "บึงหลงของ" ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นโขงหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วัดดอนโพธิ์ (วัดโพธิสัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์)

เส้นทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก) ส่วนพระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาค เฝ้าอยู่ในบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้

ประเพณีเดือนสาม ไหว้ปู่อือลือ บวงสรวงพญานาค (ภาพ : ททท.สำนักงาน อุดรธานี)
ทุก ๆ ปี ทางจังหวัดบึงกาฬจะมีการจัดประเพณีบวงสรวง ไหว้ปู่อือลือ โดยปีนี้จัดขึ้นในชื่อ “ประเพณีเดือนสาม ไหว้ปู่อือลือ บวงสรวงพญานาค ประจำปี 2567” ในระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ

ประเพณีนี้เป็นงานประจำปีของชาวบึงโขงหลงที่ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อเทวดา ฟ้าดิน บรรพบุรุษ และเหล่านาคาแห่งองค์ปู่อือลือผู้เป็นใหญ่ ณ รัตพานคร โดยมีกิจกรรม สำคัญ อาทิ ร่วมขึ้นห่มผ้าพระธาตุกองข้างศรีบุญเนาว์บนภูลังกา, พิธีลอยดอยบัวบูชาพญานาค, นั่งเรืออธิษฐานจิต เวียนรอบเกาะดอนโพธิ์, พิธีบวงสรวงพญานาคแห่งบึงโขงหลงบนเกาะดอนโพธิ์, ไหลเรือไฟ ลอยประทีปบูชาพญานาค และพิธีไหว้ปู่อือลือแบบโบราณ

บึงโขงหลง (ภาพ : ททท.สำนักงาน อุดรธานี)
สำหรับ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Wetland of international importance) ลำดับที่ 1,098 บนพื้นที่ 13,837.5 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในหน้าแล้งของกรมชลประทานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2523 ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลงเมื่อปี พ.ศ.2525 และขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกเมื่อปี พ.ศ.2544

ภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ





สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น