xs
xsm
sm
md
lg

“ทุ่งมะขามหย่อง” พื้นที่สำคัญในประวัติศาสตร์สู่โครงการแก้ปัญหาน้ำ ด้วยแนวพระราชดำริ ในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี “ทุ่งมะขามหย่อง” ต.บ้านใหม่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ 

ด้วยเป็นสมรภูมิในศึกอยุธยา-พม่า โดยกองทัพพระเจ้าแปร ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พร้อมด้วยพระมเหสี คือ “สมเด็จพระมหาสุริโยทัย" ทรงแต่งพระองค์เยี่ยงพระมหาอุปราช และพระราชโอรส - พระราชธิดา ทรงช้าง ยกกองทัพไปยังทุ่งภูเขาทอง พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ที่ทุ่งมะขามหย่อง กระทั่งเกิดเหตุมีอันให้สมเด็จพระมหาสุริโยทัย ต้องพระแสงของ้าวของพระเจ้าแปร จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง


จากความสำคัญของสถานที่ทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง เพื่อชาวไทยได้รำลึกถึงวีรกรรมในครั้งนั้น และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่รวมจิตใจคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงให้นำพื้นที่ทุ่งนาในตำบลบ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 250 ไร่ มาเป็นพื้นที่แก้มลิงมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2538 ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้องเผชิญทั้งปัญหาน้ำหลากและภัยแล้ง ทุ่งมะขามหย่อง ต. บ้านใหม่ จึงเป็นที่รองรับน้ำที่สำคัญ 


อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ที่ชาวไทยหลายคนจดจำภาพได้ดี เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เมื่อ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเพื่อทรงเกี่ยวข้าวในนา ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรัง และพระราชทานข้าวที่ทรงเกี่ยวเพื่อไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ในการนี้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ และกรมพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์ฯ โดยขุดดินก้นสระให้มีความลึกโดยเฉลี่ยอีกประมาณ 1 เมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้มากกว่าเดิมดินที่ขุดได้ส่วนหนึ่งให้นำไปทำทางสัญจรด้านทิศเหนือขนานไปกับคันกั้นน้ำให้ประชาชนใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนริมแม่น้ำกับถนนสายใหญ่ดินอีกส่วนหนึ่งให้นำไปทำถนนเสริมคันกั้นน้ำเดิมให้สูงถึงระดับ 6.20 เมตร หากมีน้ำไหลหลากมากเหมือนปี 2538 จะได้ระบายน้ำเข้ามาในสระเก็บน้ำน้ำจะได้ไม่ท่วมหลังคันกั้นน้ำซึ่งจะทำให้มีน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น

ภาพจาก สำนักงาน กปร.
ต่อมาในปี พ.ศ.2549 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด ก็ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในทุ่งมะขามหย่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ก็ยังใช้เป็นแหล่งพักพิงของประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วมนับพันชีวิต รวมไปถึงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า วัว ควาย ได้อาศัยอยู่หนีน้ำยาวนานนับเดือน

ภาพจาก สำนักงาน กปร.
สำหรับทุ่งมะขามหย่อง ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ มีการจัดทำเป็นอ่างเก็บน้ำ(แก้มลิง) จำนวน 180 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 2,100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(2.1 ล้านลบ.ม.) ซึ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำยามน้ำหลาก ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ส่วนยามหน้าแล้งก็ได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ไปในการเกษตร

นอกจากนี้ด้วยความที่ทุ่งมะขามหย่อง มีสภาพพื้นที่สวยงาม มีอ่างเก็บน้ำ มีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยและกลุ่มประติมากรรมประกอบ และมีสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของอยุธยา ซึ่งชาวกรุงเก่าได้พร้อมใจกันขนานนามท้องทุ่งทั้งสอง คือ ทุ่งมะขามหย่องและทุ่งภูเขาทองว่าเป็น “ผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ”



สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น