xs
xsm
sm
md
lg

“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” พระตะบอง-ปราจีนบุรี ตึกแฝดพี่-น้อง ของเจ้าเมืองผู้จงรักภักดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง (ซ้าย)-ปราจีนบุรี (ขวา) ตึกแฝดพี่-น้อง ของเจ้าเมืองผู้จงรักภักดี
พาไปรู้จักกับ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมืองพระตะบอง” และ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี” ซึ่งถูกยกให้เป็นตึกแฝดพี่-น้องกันของ “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ผู้จงรักภักดี โดยตึกหลังนั้นปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นอาคารสำคัญในโรงพยาบาลที่มีความสวยงามคลาสสิกมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย

จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ IG ในบัญชีรายชื่อ tim_pita เป็นภาพตึกเก่าสไตล์ยุโรป พร้อมข้อความภาษาไทยระบุว่า “บ้านเก่าคุณยาย”  มาตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปี พ.ศ.2558 (ก่อนจะลบทิ้งในภายหลัง ในเดือน ก.พ.2567)

ภาพและข้อความจาก IG ของ ทิม พิธา
หลังจากนั้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งดราม่าบนโลกโซเชียล เมื่อชาวเน็ตไทยจำนวนมากได้ไปสืบค้นสาแหรก ลำดับญาติของนายทิม พิธา ว่าเป็นคนไทยหรือคนเขมรกันแน่ พร้อมทั้งยังค้นหาข้อมูลของตึกเก่าในภาพ ซึ่งก็คือ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ว่ามีความเป็นมาอย่างไร? ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับอาคารเก่าแก่สุดคลาสสิกหลังนี้กัน

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง


ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ประเทศกัมพูชา
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ตั้งในพื้นที่ย่านอาคารราชการดั้งเดิมของเมืองพะตะบอง จากข้อมูลประวัติการสร้างตึกหลังนี้ที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นของพระตะบองระบุว่า “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)” ท่านสร้างตึกหลังนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2447 (บ้างก็ว่าสร้างในปี 2448)

ตึกหลังนี้ว่าจ้างช่างชาวอิตาลีมาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง มีลักษณะเป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น หันหน้าออกถนน สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปยุคบาโรก (Baroque : ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 17) ตัวอาคารมีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงามทั่วบริเวณ

เส้นสาย ลวดลายปูนปั้นประดับของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
ตึกหลังนี้เคยถูกใช้เป็นศาลากลางของเมืองพระตะบองมาช่วงระยะเวลหนึ่ง แต่เมื่อมีการสร้างศาลากลางหลังใหม่ ตึกหลังนี้ได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมา

กระทั่งเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรปราสาทในเขตเมืองพระตะบอง พระองค์ท่านได้ไปเสวยพระกระยาหารที่ตึกหลังนี้ ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกและรั่วลงมา พระองค์ท่านจึงพระราชทุนทรัพย์ในการบูรณะให้ 1 ล้านบาท อันเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะให้กลับคืนสู่ความสวยงามดังเดิม

ลวดลายรูปช้างที่ประดับอยู่ด้านบนของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ถูกยกให้เป็น “ตึกแฝดพี่” ของ “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี” (ตั้งอยู่บนถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี)

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
ตึกหลังนี้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 โดยท่าน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นงานสถาปัตกรรมยุโรปยุคบาโรก ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทโฮวาร์เออร์สกิน เป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องลอนเล็ก กลางหลังคาสร้างเป็นรูปโดม เหนือยอดโดมมีเครื่องบอกทิศทางรูปไก่ทำด้วยโลหะ ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา และมีระเบียงดาดฟ้า

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตึกของโรงพยาบาลที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
ภายนอกและภายในอาคารมีลวดลายปูนปั้นฝีมือประณีตบรรจงประดับอยู่ทั่วไป รวมถึงมีการทำช่องลมเป็นแผ่นไม้ฉลุลายอย่างสวยงาม ขณะที่วัสดุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กลอนประตู หน้าต่าง กระจกสี กระเบื้องปูพื้น ล้วนสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีรูปเคารพปูนปั้น (ฝีมือช่างพื้นบ้าน) ปั้นเป็นรูปท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยืนตรงเด่นเป็นสง่าให้ผู้ที่ผ่านไป-มา ได้ทำความเคารพ สักการะ ท่ามกลางต้นปาล์มสูง 2 ต้นที่ขึ้นขนาบข้าง

ลวดลายปูนปั้นประดับด้านนอกตึก
ด้วยความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำให้ตึกสไตล์ยุโรปโบราณหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2542

ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ปราจีนบุรี โดยดำรงฐานะเป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่และสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยได้แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลัก ๆ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องท้องพระโรง ห้องยาไทย ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร และร้านขายยาไทย เป็นต้น

พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
สำหรับวัตถุประสงค์ของการสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทั้ง 2 แห่งที่ถูกยกให้เป็นดังตึกแฝดพี่-น้อง ของ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) นั้นแตกต่างกันออกไป

โดยตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี หรือตึกแฝดน้อง สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในยามที่เสด็จประพาสมายังปราจีนบุรี เพราะท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เห็นว่า เมื่อคราที่ ร.๕ เสด็จประพาสปราจีนบุรีในปี 2451 นั้น ไม่มีสถานที่รับเสด็จที่เหมาะสม มีเพียงพลับพลาชั่วคราวที่จัดสร้างขึ้นมาเท่านั้น

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง ท่านชุ่มสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ไม่มีโอกาสได้พำนัก
แต่ ร.๕ ไม่มีโอกาสได้ประทับที่ตึกแห่งนี้ เนื่องจากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี 2453 ต่อมาในปี 2455 ตึกแห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ ๖ แทน

ส่วนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พระตะบอง หรือตึกแฝดพี่ สร้างขึ้นก่อนเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ทว่า...ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าพำนักในตึกหลังนี้เลย เพราะจวนหลังนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จ ท่านชุ่ม ผู้เป็นเจ้าของก็ต้องพลัดพรากจากเมืองพระตะบองที่วงศ์ตระกูลตั้งรกรากมากว่า 100 ปี เข้าสู่แผ่นดินสยาม พร้อมกับวีรกรรมแห่งความจงรักภักดีที่ต่อมาท่านได้ถูกยกย่องให้เป็น “เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม

เจ้าพระยาอภัยภูเบศรผู้จงรักภักดี

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)-(ภาพจากหนังสือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม)
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2404 จังหวัดพระตะบอง ในรัชกาลที่ ๔ เป็นบุตรคนโตของท่านผู้หญิงทิม และเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง โดยต้นตระกูลท่านได้ปกครองเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ที่ช่วงนั้นยังอยู่ใต้การปกครองแห่งสยามประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337 ในรัชกาลที่ ๑ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

แต่ในปี พ.ศ.2450 ผลจากการล่าอาณานิคม ทำให้ไทยต้องเสียดินแดน พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้กับฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม)(ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพาและให้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้ทูลเกล้าให้ความเห็นว่า “ควรยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อแลกกับเอกราชส่วนใหญ่

รูปปั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ใน พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
โดยท่านชุ่มได้เสียสละยอมให้ยกดินแดนภายใต้การปกครองแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการรักษาเมืองจันทบุรีและตราดเอาไว้ เพราะในทางยุทธศาสตร์ เมืองจันท์และตราดอยู่ติดทะเลศัตรูข้าศึกสามารถยกพลจากเข้ามาสู่พระนครเมืองหลวงได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ดีในการยึดครองพระตะบองมาจากสยาม ทางฝรั่งเศสยังต้องการให้เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) รับราชการเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองพระตะบองต่อ ด้วยมองเห็นว่า ท่านชุ่มยังเป็นที่เคารพของประชาชนและบารมีของสายสกุลอภัยภูเบศรที่ปกครองพระตะบองมานับร้อยปี จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาปกครองของฝรั่งเศส

แต่ด้วยความจงรักภักดีของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) ที่มีต่อชาติ มีต่อแผ่นดินสยาม และมีต่อพระมหากษัตริย์ไทย ท่านชุ่มไม่ยอมไปเป็นข้าแผ่นดินอื่น ท่านได้ยอมทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ทิ้งบ้านยุโรปหลังใหญ่หรูที่กำลังสร้าง ทิ้งทรัพย์สินจำนวนมาก ยอมสละตำแหน่ง อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ พร้อมชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายในตำแหน่งเจ้าเมืองพระตะบอง พาครอบครัวเดินทาง (ด้วยเท้า) อย่างยากลำบากในฤดูฝนเข้าสู่สยามประเทศ มาเป็นข้าราชการธรรมดา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้จงรักภักดี
จากนั้นในปีวันที่ 18 พฤศจิกายน 2450 เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์(ชุ่ม) ได้รับการโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” มีศักดินา 10,000 ไร่ และพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์โท รับระบบในกระทรวงมหาดไทย

ถัดมาในปี 2451 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ได้ที่หน้าที่จัดการรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ โดยท่านได้นำเสด็จประพาสดงศรีมหาโพธิและพระหน้าที่เป็นควาญช้างพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ก่อนที่ในปี 2452 ท่านเจ้าคุณชุ่มจะดำเนินการก่อสร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อใช้เป็นที่ประทับรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ ตามที่ได้แล้วมาข้างต้น

เรื่องราวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
ปี 2460 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อสายได้รับพระราชทานนามสกุล “อภัยวงศ์” จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2465 ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้ถึงแก่อสัญกรรม สิริรวมอายุ 61 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี

สำหรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของเมืองไทย ที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี และความจงรักภักดีต่อชาติ ราชบัลลังก์

วันนี้แม้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) จะจากไปกว่า 100 ปีแล้ว แต่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ที่เป็นดังตัวแทนของท่านยังคงอยู่

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรปราจีนบุรี กับความสวยงามคลาสสิกที่ตั้งเด่นเป็นสง่ามากว่า 100 ปี
โดยปัจจุบันตึกหลังนี้นอกจากจะดำรงฐานะ “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ทำหน้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญ ควบคู่ไปกับความเป็นตึก (ใน)โรงพยาบาลที่สวยที่สุดในเมืองไทยแล้ว

นอกจากนี้ตึก เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ยังแฝงไว้ด้วยจิตวิญญาณ วีรกรรม คุณงามความดี และความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) อย่างเต็มเปี่ยม

##############


หมายเหตุ : อภัยภูเบศร เป็นตำแหน่งไม่ใช่ชื่อบุคคล





กำลังโหลดความคิดเห็น