xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! พบ “ปลาโมล่า” ปลามหาสมุทรสุดน่ารักในทะเลไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม
ดร.ธรณ์ ยืนยันพบ “ปลาโมล่า” ในทะเลอันดามัน ซึ่งปลาโมล่าเป็นปลามหาสมุทรที่โอกาสเจอในทะเลแทบจะไม่มี คาดอาจจะหนีมาในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรอินเดีย

ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม
เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความว่า

น่าจะเป็นครั้งที่สองที่เราเจอโมล่าใต้น้ำในทะเลไทย พี่ๆ ที่เจอจึงส่งคลิปมาให้ผมลงไว้เป็นหลักฐานครับ

โมล่าเป็นปลามหาสมุทร จะแวะเข้ามาใกล้ฝั่งตามเกาะกลางทะเล น้ำลึก น้ำเย็น จึงแทบไม่โผล่มาในทะเลไทย แม้เป็นอันดามันก็ตามเถอะ

แต่ IOD ปรากฏการณ์ในมหาสมุทรอินเดียทำให้อะไรก็เป็นไปได้ ตัวประหลาดโผล่มากันเพียบ

จุดที่เจอคือหินม่วง/หินแดงเป็นกองหินกลางทะเลกระบี่/ตรัง น้ำลึกกว่าแนวปะการังชายฝั่ง

ผู้ที่พบแจ้งว่า เจอที่ความลึก 31 เมตร ตามสายทุ่นจอดเรือที่อยู่นอกกองหิน ปลาว่ายเข้ามาดูและว่ายออกไปอย่างเร็ว ไม่กลับเข้ามาอีก


ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม
หากย้อนไปเมื่อเดือนก่อน มีข่าวว่าชาวประมงล้อมอวนติดโมล่า 2-3 ตัว ก่อนรีบปล่อยลงทะเล ทำให้เราพอทราบว่าช่วงนี้มีโมล่าเข้ามาในไทย การพบใต้น้ำหนนี้จึงเป็นไปได้

เชื่อว่าเพื่อนธรณ์คงรู้จักโมล่ากันดีแล้ว เพราะเป็นปลาสุดน่ารัก โผล่บ่อยมากในสติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา ฯลฯ คนญี่ปุ่นรักมากๆ

โมล่าชื่อฝรั่งคือ ocean sunfish เรามักทับศัพท์ว่าปลาแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันเรียกกันว่าโมล่า ตามชื่อวิทยาศาสตร์ Mola mola

พบเกือบทั่วโลกยกเว้นเขตหนาวจัด ตัวใหญ่สุดอาจยาวเกิน 3 เมตร หนักเกิน 2.5 ตัน โมล่าจึงเป็นปลากระดูกแข็งหนักที่สุดในโลก

(ฉลามวาฬเป็นปลากระดูกอ่อน วาฬ/โลมาไม่ใช่ปลา และโมล่า “หนัก” ไม่ใช่ยาวใหญ่)


ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม
ตัวที่เจอจึงยังเป็นโมล่าเด็ก ยาวแค่ 1 เมตรนิดๆ (ตามรายงานของผู้พบ)

โมล่ากินแมงกะพรุนเป็นหลัก ยังรวมถึงญาติๆ เช่น หวีวุ้น จึงใช้ชีวิตกลางทะเลเปิด

สังเกตท่าว่ายน้ำอันแปลกประหลาดในคลิปนี้ ทำให้โมล่ามีชื่อเสียงเป็นที่จดจำ

เพราะะปลาอื่นใช้หางว่ายน้ำ แต่โมล่าใช้ครีบหลังและครีบก้นที่ยาวเป็นพิเศษโบกน้ำไปมา ขณะที่ครีบหางสั้นกุดแทบไม่เกี่ยวอะไรกับการว่ายเลย

โมล่ายังเป็นปลาที่ออกไข่มากที่สุดในโลก 200-300 ล้านฟองต่อครั้ง เพราะโอกาสรอดของลูกๆ มีน้อยมาก

ลูกปลาที่เพิ่งเกิดตัวเล็กจิ๋ว 2-3 มิลลิเมตร กลายเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นเพียบ กว่าจะรอดมาเป็นตัวเต็มไว ใหญ่และเร็วพอที่จะรอดตายจากศัตรู

แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว ฉลามและวาฬขนาดใหญ่ที่กินเนื้อเป็นนักล่าตามธรรมชาติของโมล่า เช่น วาฬเพชฌฆาต


ภาพจากในคลิปจากเจ้าของคลิปที่ไม่ประสงค์ออกนาม
โมล่ายังเป็นปลาที่มีปรสิตเยอะ บางหนจึงว่ายเข้ามาที่แนวปะการังกลางมหาสมุทรให้ปลาช่วยตอดปรสิต บางทีอาจถึงขั้นขึ้นไปลอยบนผิวน้ำให้นกช่วยจิก

อยากเห็นแค่เสิร์ช mola seabirds มีให้ดูแน่นอน หรืออยากให้ลูกรู้ด้วยก็ซื้อการ์ตูน “โมล่าหาเพื่อน” ที่อาจารย์รูปหล่อเคยแต่งไว้ให้น้องๆ เด็กอนุบาลเมื่อหลายปีมาแล้ว (ภาพในเมนต์ฮะ 🤭)

หากเทียบความหายากของสัตว์ที่โผล่มาในอันดามันช่วงนี้

1 วาฬโอมูระเผือก (ไม่มีรายงานในโลก)

2 oarfish (ไม่เคยมีรายงานในไทย)

3 หมึกผ้าห่ม (มีตัวอย่าง เคยจับได้จากชาวประมง แต่มีคนเจอใต้น้ำเป็นครั้งแรก)

4 โมล่า เคยมีคนถ่ายคลิปไกลๆ ได้ที่สิมิลัน (2018) หนนี้น่าจะเป็นครั้งที่สองที่มีการบันทึกได้ใต้น้ำ (รายงานตามท่าเรือหรือชาวประมงจับได้มีเป็นระยะนานปีหน)

เนื่องจากมาตาม IOD จึงไม่หวังว่าจะอยู่ประจำ คงจากไปในไม่ช้า แต่แค่ได้เจอก็กรี๊ดๆๆๆ

ทะเลไทยปีนี้พีคสุดขีดครับ


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น