วันนี้(4 ม.ค.)นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกล่าวว่า รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่าจะพัฒนาคุณภาพของครูทั้งประเทศ จะให้ความสำคัญกับเด็กไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ จะให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน ซึ่งจากงบประมาณส่วนนี้ จะเห็นได้ว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด รัฐจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เป็นรากฐานความสำคัญของความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จะเห็นว่างบประมาณในปีนี้ (2567) 3.48 หมื่นล้านล้านบาท เป็นงบประมาณที่มากกว่าปีที่แล้ว มากกว่าถึง 295,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกระทรวงมหาดไทย ถึง 328,000 กว่าล้านบาท งบประมาณที่ได้มาทั้งหมดนี้ เกือบ 90% เป็นงบประมาณบุคลากร 61% กว่า 2 แสนกว่าล้านบาท และเป็นงบประมาณอุดหนุน 9 หมื่นกว่าล้าน รวมเบ็ดเสร็จ 90% เป็นงบดำเนินการ 3% งบลงทุน 3% และงบอื่นๆ อีกเล็กน้อย
.
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเราพัฒนาเพียงสภาพพื้นฐาน ไม่ได้มีการพัฒนาเชิงรุกเพื่อให้เกิดคุณภาพของผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำโดยตรง ตามนโยบายที่ รมว.ศธ. พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาฯ ที่จะให้เด็กเรียนดี มีความสุข และเดินไปด้วยกันนั้น เป็นนโยบายที่ดีเพื่อที่จะให้เด็กได้รับสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของรัฐ รวมทั้งแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่ได้นำเสนอนโยบายไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลพยายามที่จะให้ประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความเสมอภาคสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ได้มีการเลื่อนปรับปรุงเรื่องโครงการอาหารกลางวัน โดยให้โรงเรียนขนาดเล็กของรัฐบาลเป็นลำดับขั้น ต่ำกว่า 40 คือ 36 บาท ขณะเดียวกันจะเห็นว่ารัฐบาลไทย ใช้งบประมาณเลี้ยงดูเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยกว่า 130,000 คน เป็นจำนวน 1,420 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณที่สูง ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะเจียดงบประมาณให้ความสำคัญ ความเสมอภาคกับเด็กทุกคนที่เป็นเยาวชนของชาติ และจะเป็นกำลัง เป็นเสาเข็มค้ำยันประเทศชาติต่อไปในอนาคต นายสฤษดิ์ กล่าว
.
นายสฤษดิ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เริ่มมีนโยบายที่จะผลักดันจัดสรรงบประมาณในปี 2567 โดยจะให้กับโรงเรียนขยายโอกาส ม.1 ถึง ม.3 เป็นเงินงบประมาณ 1,344 ล้านบาท และมีแนวนโยบายที่จะผลักดันให้เด็กอนุบาล 1 ก่อนประถมศึกษา ถึง ป. 6 โรงเรียนเอกชนทุกคนจะได้รับอาหารกลางวันเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะเด็กที่ทุพโภชนาการ หรือขาดแคลนเท่านั้น
.
ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายของอนุกรรมาธิการ ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ อัธยาศัย และเอกชน ในคณะกรรมาธิการฯ ก็พยายามผลักดันสนับสนุนที่จะให้เด็กทุกคนได้ทานอาหารกลางวันเท่าเทียมกัน และได้นำเสนอ สช. (สำนักงานการค้ำประกันการศึกษาเอกชน) เสนอครม. แล้ว แต่ทางครม. ได้ให้กลับมาพิจารณาอีกว่า ให้ทางกระทรวงศึกษาฯ พิจารณา ทุกหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และท้องถิ่น ต่างเห็นตรงกันว่าควรที่จะให้เด็กเสมอภาคกัน แต่ทางสำนักงบประมาณแห่งเดียวกลับเห็นว่าไม่ควร ให้ชะลอออกไปก่อน เพียงแค่เห็นว่าสถานศึกษาเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก มีศักยภาพเพียงพอ ไม่ควรสนับสนุน และให้ออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ นายสฤษดิ์ ขอให้ทางสำนักงบประมาณควรพิจารณาใหม่ เพราะสิทธิพื้นฐานเป็นของคนทุกคน
.
สำหรับเรื่องโครงการเรียนดี มีความสุข ของ รมว.ศธ. เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ และนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา ตรงนี้จะทำให้ครูมีเวลาที่จะทุ่มเทอยู่ชั้นเรียนสอนเด็ก มุ่งหวังไปที่เด็ก ดังนั้นงบประมาณที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นวิทยฐานะที่ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และครูบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น หรือแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตรงนี้จะเป็นขวัญและกำลังใจให้ครูได้มีสุขภาพจิตที่ดี และตั้งใจทำงาน ส่วนเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน เรื่องงบประมาณต่างๆ จะเป็นงบประมาณกระทรวงศึกษาฯ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เรียนทุกที่ทุกเวลา anywhere any place เรียนฟรีมีงานทำ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ มี 1 อำเภอ 1 โรงเรียน มีระบบครูแนะแนว เพื่อจะให้เด็กรู้เป้าหมายของชีวิต ให้มีการจัดมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีวัดผลการศึกษาประเมินผลการศึกษา ดังนั้นจึงขอให้ทางรัฐบาลได้อนุมัติในความเห็นชอบ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อ พิจารณางบประมาณเร่งด่วน เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ทันกับความต้องการ และแก้ปัญหาวิกฤตต่อไป นายสฤษดิ์ กล่าว