xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ให้ความรู้ “เอลนีโญ” คาดมาจบช่วงเมษายน-พฤษภาคม เผยหน้าร้อนอาจร้อนเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล อัปเดตเอลนีโญ คาดการณ์เอลนีโญมาแน่ช่วงเมษายน/พฤษภาคม ผลกระทบที่เห็นชัดคือหน้าหนาวที่เหลืออยู่จะไม่หนาว หน้าร้อนที่ใกล้เข้ามาจะร้อนแน่ และอาจร้อนเร็ว

วันนี้ (14 ม.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความว่า “อัปเดตเอลนีโญและ IOD นับตั้งแต่ธันวาคม เอลนีโญกำลังอยู่ช่วงพีกต่อเนื่อง 2-3 เดือน IOD เริ่มเบาลงแล้วครับ เมืองไทยอยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทร เราได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ 2 ฝั่ง ENSO หรือเอลนีโญ/ลานินญาในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก IOD (indian ocean dipole) ในมหาสมุทรอินเดีย

ปีนี้ทั้ง 2 ปรากฏการณ์เป็น positive เรามีหน้าหนาวที่ร้อนกว่าปรกติเพราะเอลนีโญ เรามีน้ำเย็นผิดปรกติในฝั่งอันดามันที่พาสัตว์แปลกๆ เข้ามาเพียบ IOD positive ใกล้จบแล้ว ปรากฏการณ์น้ำเย็นปลาเยอะปลาแปลกคงหมดในเดือนนี้

เอลนีโญยังพีกอยู่ตลอดเดือน หมายถึงคนที่รอความหนาวช่วงมกราคมคง แต่เราอาจได้ฝุ่นเยอะขึ้นเพราะความร้อนแล้งมาแทน
ดูจากกราฟและการคาดการณ์ เอลนีโญน่าจะจบช่วงเมษายน/พฤษภาคม เราจะเข้าสู่ภาวะปรกติ หรืออาจโดดข้ามไปลานินญา (ฝนเยอะ)

แต่นั่นคือภาพรวมทั้งมหาสมุทร ความร้อนผิดปรกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะเคลื่อนที่จากฝั่งอเมริกามาฝั่งเอเชีย ตอนนี้แถวอเมริกาเริ่มเบาลง ร้อนจริงไปอยู่กลางแปซิฟิก น้ำร้อนยังอยู่แถวบ้านเรา ดูจากแผนที่จะเห็นเป็นสีส้ม

ผลกระทบที่เห็นชัดคือหน้าหนาวที่เหลืออยู่จะไม่หนาว หน้าร้อนที่ใกล้เข้ามาจะร้อนแน่และอาจร้อนเร็ว จริงๆ ตอนนี้ก็เริ่มร้อนแล้ว มีเพียงความเย็นแผ่วๆ มาปลอบคนกรุงเทพฯ อยากเย็นกว่าต้องไปภาคเหนือ

แต่ของจริงค่อยๆ คืบเข้ามา กุมภาเป็นทัพหน้า มีนา/เมษาคือทัพหลัก ขอให้เตรียมสะสมทรัพย์จ่ายค่าแอร์ น้ำในทะเลยังร้อนกว่าปรกติ ยิ่งเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน เรายิ่งต้องติดตามปะการังฟอกขาวแบบต่อเนื่อง

นอกเหนือจากงานของกรมทะเลและหน่วยงานอื่นๆ คณะประมงกับ ปตท.สผ.เตรียมพร้อมรับมือ ผมมีโครงการที่ขอขยายเวลามาเป็นพิเศษ เพื่อตามดูปะการังในหน้าร้อนนี้โดยเฉพาะ จะมารายงานให้เพื่อนธรณ์ทราบ

สำหรับต่างประเทศ ญี่ปุ่นโดนโอบด้วยน้ำร้อนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มหน้าหนาว หิมะอาจมีมาเป็นพายุช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ไม่ค่อยตก จะมีอากาศร้อนกว่าปรกติแถมมาเป็นวูบๆ ด้วย

พยากรณ์ซากุระบอกว่าปีนี้อาจมาเร็วกว่าปรกติเล็กน้อย แต่นั่นต้องติดตามต่อไป อย่าวางใจ ใครจะไปดูให้เผื่อเวลาไว้ล่วงหน้า ช่วงดีสุดของฮอนชูน่าจะเป็นสัปดาห์ 3-4 ของเดือนมีนาคม ซึ่งแน่นอนว่าอาจารย์ธรณ์ไม่รับงานช่วงนั้น มีบรรยายภาพครับ"

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ








กำลังโหลดความคิดเห็น