ใกล้มีรัฐบาลใหม่แล้ว จึงถือโอกาสนำประเด็นเร่งด่วน “โลกร้อน/ทะเลเดือด” มาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง เผื่อจะมีประโยชน์ต่อการทำงานครับ
เอลนีโญกำลังเร่งความแรง เริ่มเห็นอุณหภูมิน้ำสูงผิดปรกติ และจะแรงขึ้นอีก การทำงานนับแต่นี้ต่อไปอีก 6-12 เดือนจึงสำคัญมาก
กรมโลกร้อน เพิ่งตั้งใหม่ คงต้องเร่งมือเป็นหน่วยประสานงานเพื่อระดมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และอัปเดตต่อเนื่อง
กรมทะเล กรมอุทยาน คงต้องติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลพื้นที่ต่างๆ และสำรวจตรวจเช็คระบบนิเวศ โดยเฉพาะปะการัง/หญ้าทะเล ยังรวมถึงปรากฏการณ์ผิดปรกติ เช่น น้ำเปลี่ยนสี (น้ำเขียว)
อีกเรื่องที่ควรทำควบคู่กันคือติดตามและประเมินการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องกับทะเล วิเคราะห์ประเมินผลกระทบ
ทั้งหมดนั้นคือกรอบทำงานคร่าวๆ จุดอ่อนของเราคือ เก็บข้อมูลแต่ไม่ค่อยได้วิเคราะห์
เรามีข้อมูลเป็นจุดๆ แต่มองภาพรวมไม่ออก หรืออัปเดทไม่ทัน สื่อสารกับผู้คนลำบาก/ไม่เข้าใจ
ในอดีตเราเคยเจอปัญหาแบบนี้ เช่น ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ หนนั้นเราใช้กลไกการทำงานแบบคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์
การประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดตั้งคณะเฉพาะกิจเพื่อเป็นที่ปรึกษากระทรวง/กรมต่างๆ ในเรื่องโลกร้อน/เอลนีโญ/ทะเล จะทำให้เราวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในภาพรวมและเสนอแนวทางที่ทันต่อเหตุการณ์
นั่นเป็นข้อเสนอของผมที่คิดว่าทำได้ง่ายและเร็วที่สุด
เพราะกลไกเดิมที่มีเป็นระดับนโยบาย ใช้เพื่อออกกฏหมาย/ระเบียบ/ประกาศพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องต่อสถานการณ์เร่งด่วนที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากแก้ไขเยียวยาหนนี้ เรายังจำเป็นต้องเรียนรู้ผลกระทบจากเอลนีโญ+โลกร้อนให้มากที่สุด
เพราะหนหน้าจะแรงกว่านี้ โลกยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดร้อน (เอลนีโญเกิดทุก 5-7 ปี)
ยังรวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อนำไปใช้ระดับนโยบาย นำไปพูดคุยในการประชุมระหว่างประเทศ COP ฯลฯ เพราะเทรนด์ตอนนี้กำลังคุยเรื่อง loss & damage ตามแนวทางของ UN
การไปพูดเพียงว่าไทยจะช่วยลดโลกร้อน เรากำลังใช้แนวทางโลว์คาร์บอน อาจไม่เพียงพอสำหรับสถานการณ์ตอนนี้
เรื่องผลกระทบ L&D ต้องการข้อมูลเยอะ วิเคราะห์เยอะ การระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะทำให้เรามีฐานข้อมูลที่ดี นำไปคุยกับประเทศอื่นๆ ได้ ต่อรองได้
ผมพูดเรื่องทะเลอย่างเดียว แต่ยังมีระบบนิเวศป่า/ไฟป่า/ฝุ่นควัน ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับเอลนีโญ+โลกร้อนในครั้งนี้ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ/การทำมาหากิน
เศรษฐกิจจะกระตุ้นแค่ไหน หากธรรมชาติไม่เป็นใจ หากน้ำเขียวทุกสัปดาห์ ไฟป่าดินถล่มเกิดได้ตลอด มันก็ใช้ชีวิตลำบาก
เหตุการณ์ในต่างประเทศคงพอบอกเราได้ ตอนนี้เราอาศัยคำว่าโชคดีเท่านั้น และไม่เชื่อว่าโชคดีจะอยู่ได้ตลอดไป
แต่การลุกขึ้นมาเรียนรู้ รับมือ และปรับตัว จะอยู่ได้ตลอดไป
ฝากความหวังไว้กับท่านรัฐมนตรีที่เป็นใครหนอ ? ไม่ว่าเป็นท่านใด จุดพลิกผันธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไทย อยู่ในจังหวะนี้ครับ
บทความโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(ปีนี้ ยังดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มก.)
อ้างอิง Thon
Thamrongnawasawat