xs
xsm
sm
md
lg

“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง” มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในปี พ.ศ. 2534 “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง" ได้รับการรับรองเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย


ภาพ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้ ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตาก ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก 3 ข้อ ได้แก่ เกณฑ์ข้อที่ 7 เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้

เกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์

เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชหรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

ภาพ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พื้นที่แห่งนี้ นับเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่านานาชนิดและความหลากหลายของพืชพันธุ์ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญของผืนป่าในแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภูมิศาสตร์ 4 เขต คือ ไซโน-หิมาลายัน (Sino-Himalayan) อินโด-เบอร์มิส (Indo-burmese) อินโด-ไชนิส (Indo-chinese) และซุนเดอิก (Sundaic)

รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งเขต ที่ราบฝั่งตะวันออกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นบริเวณที่โดดเด่นที่สุด เป็นตัวแทนระบบ นิเวศป่าเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์แหล่งสำคัญของโลก

เป็นถิ่นอาศัยซึ่งสัตว์ป่านานาชนิด พื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ ถูกสำรวจพบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่มากกว่า 120 ชนิด มีนก 401 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 96 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 41 ชนิด ปลา 107 ชนิด โดยจำนวนสัตว์ป่าที่มา มีถึง 28 ชนิด ที่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์หายากและกำลังถูกคุกคามของโลก ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 ชนิด เช่น ควายป่า เสือโคร่ง เสือดำ เสือลายเมฆ วัวแดง กระทิง สมเสร็จ เลียงผา หมาใน ชะนีมือขาว ลิงอ้ายเงี้ยะ นก 9 ชนิดเช่น นกยูงไทย นกเงือกคอแดง ฯลฯ

ภาพ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ สำหรับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง” ข้อมูลจากเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า ความพิเศษของ “ห้วยขาแข้ง” มีมากมายหลายประการ ภายในพื้นที่ราว 1.8 ล้านไร่ ประกอบด้วยชนิดป่าที่พบในพืชเขตร้อนชื้นถึง 7 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเขาหินปูน ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง

ห้วยขาแข้งเป็นบ้านของควายป่าฝูงสุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่สุดอย่างช้างป่า มีนกเงือกคอยทำหน้าที่ดูแลป่า เป็นแหล่งพันธุกรรมของเสือโคร่งอินโดจีน สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) พบว่าประชากรเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังกระจายตัวไปสู่ผืนป่าข้างเคียงอย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและความหลากหลายจากชนิดของป่าทำให้ห้วยขาแข้งเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่น้อยกว่า 159 ชนิด นกไม่น้อยกว่า 428 ชนิด โดยรวมมีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 700 ชนิด บางชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม งูลายสาบท้องสามขีด เขียดงูเกาะเต่า ฯลฯ

ในความหลากหลายของชนิดพันธุ์มีสัตว์เด่นที่ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ดแห่งห้วยขาแข้ง ได้แก่ ควายป่า เสือโคร่ง เสือดาว สมเสร็จ วัวแดง กระทิง และช้างป่า

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น