จังหวัดพังงาชวนลิ้มลอง “ลูกปุย” หรือ “ลูกลังแข” ผลไม้ป่าพื้นบ้านรสเด็ด ที่ปีหนึ่ง ๆ จะมีให้กินในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ซึ่งชาวบ้านจะเก็บมาขายแขวนเป็นแถวเรียงรายริมถนนสายพังงา-ตะกั่วป่า
ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี หากใครใช้เส้นทางผ่านไป-มาบนถนนสายพังงา-ตะกั่วป่า หรือสายพังงา-ภูเก็ต จะเห็นชาวบ้านนำผลไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งแขวนขายเป็นช่อสีส้มอย่างสวยงามอยู่สองข้างทาง นั่นก็คือ “ลูกลังแข” หรือที่คนในพื้นที่เรียกกันว่า “ลูกปุย”
ลูกลังแข หรือ ลูกปุย เป็นผลไม้อยู่ในวงศ์เดียวกับมะไฟ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้เกินกว่า 10 เมตร ลำต้นใหญ่ตั้งตรง เนื้อไม้แข็งและเหนียว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปใบหอกหรือรูปลิ่ม ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดใหญ่และยาวมาก สีเขียวสด เวลามีใบดกจะให้ร่มเงาดีมาก
ลูกปุยเป็นผลไม้ป่าพื้นถิ่นของภาคใต้ ซึ่งเมื่อยามออกผล ชาวบ้านจะไปเก็บมาขายเป็นช่อ ๆ ช่อละ 1 กิโลกรัม ราคา 40-50 บาท ตามขนาดของผล
ลูกปุย มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยชวนกิน เป็นที่ติดอกติดใจของผู้ที่ผ่านทางไปมา แวะชื้อไปรับประทานเอง หรือนำไปเป็นของฝากอยู่เสมอ
นายทศพร ขมักการ เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองพังงา อธิบายว่า“ลูกปุย”หรือลูก “ลังแข” เป็นผลไม้พื้นเมืองที่พบมากในป่าภาคใต้ มีลักษณะต้นและใบนั้นคล้ายกับต้นมะไฟ ลูกจะเป็นช่อ ๆ ไม่ใหญ่ เมื่ออ่อนจนแก่จะมีสีเขียวเข้ม ตอนสุกเปลือกจะมีสีส้ม มีความหนามากเวลาปอกเปลือกจะพบเนื้อของลูกปุย ซึ่งมีสีขาวน่ากิน และจากการที่เนื้อของผลไม้ชนิดนี้มีความขาวนวลคล้ายปุยเมฆยามเช้ายามที่อากาศสดใส ชาวพังงาจึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “ลูกปุย”
“รสชาติของลูกปุยจะมีทั้งหวานและหวานอมเปรี้ยว ในอดีตชาวบ้านใช้วิธีการเก็บลูกปุยในป่ามากินและขายเท่านั้น ปัจจุบันได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์มาปลูกในสวนด้วยวิธีการเสียบตายอด คือการปลูกต้นลูกปุยป่าแล้วเอายอดจากต้นที่เป็นพันธ์ดีมาเสียบ เพื่อให้ได้ลูกปุยที่มีขนาดใหญ่ ผลโตน่ารับประทานและรสชาติหวาน” นายทศพร กล่าว
อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีการปลูกลูกปุยเพื่อขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่จะเป็นการปลุกแซมกับไม้ผลชนิดอื่นเท่านั้น โดยลูกปุยจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน ของทุกปี ซึ่งหากใครได้ไปเยือนพังงาก็สามารถลองลิ้มชิมรสลูกปุยผลไม้ป่ารสเด็ดกันได้