เป็นบุญตา ชมภาพหายาก “หลวงพ่อโสธร” ในยุคต่าง ๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้ทำการบูรณะเสร็จสิ้น และมีกำหนดจัดพิธี “สมโภชพระพุทธโสธร” ขึ้น ในวันที่ 2-6 เม.ย. 66 นี้
วันนี้องค์ “หลวงพ่อโสธร” และบริวาร ทั้ง 17 องค์ได้ทำการบูรณะครั้งล่าสุดเสร็จสิ้นแล้ว ทาง “วัดโสธรวราราม วรวิหาร” จึงมีกำหนดจัดพิธี “สมโภชพระพุทธโสธร” ขึ้น ในวันที่ 2-6 เม.ย. 2566 ภายในงานนอกจากการสมโภชฉลองพระพุทธโสธร 253 ปี หลังการบูรณะอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์คือ การแสดงโขน จาก “สำนักการสังคีต กรมศิลปากร” ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี รวมถึงจะมีพิธีพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคลหลวงพ่อโสธร รุ่น สมโภช ๒๕๓ ในวันที่ 2-6 เม.ย.66 ด้วย ซึ่งหลายรายการถูกจองเต็มแล้ว
“หลวงพ่อโสธร” หรือ “พระพุทธโสธร” เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวไทยให้ความเคารพศรัทธากันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ พระอุโบสถวัดโสธรวราราม วรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับประวัติของหลวงพ่อโสธรไม่มีหักฐานปรากฏแน่ชัด มีเพียงตำนานต่าง ๆ เล่าขานสืบต่อกันมาโดยหนึ่งในตำนานที่แพร่หลายที่สุดก็คือ “ตำนานพระ 5 พี่น้อง” ที่ระบุว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ที่ปัจจุบันต่างก็เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บานคู่เมืองของจังหวัดนั้น ๆ อันได้แก่ 1.หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามฯ จ.ฉะเชิงเทรา 2.หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ 3.หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี 4.หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม และ 5.หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จ.นครปฐม ต่างก็ลอยน้ำมาตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย
จากนั้นได้มีชาวบ้านมาพบเจอจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ
สำหรับองค์หลวงพ่อโสธร หลังจากที่ลอยน้ำมาถึงบริเวณหน้าวัดโสธร ชาวบ้านจำนวนมากมาช่วยกันฉุดองค์พระขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อมาจึงมีผู้รู้คนหนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญ และใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ก่อนจะฉุดขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปองค์นี้จึงเสด็จขึ้นมาอยู่บนฝั่งได้ และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระวิหารในวัดโสธรฯ มาจนถึงทุกวันนี้
หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ (ขัดสมาธิราบ) ทำจากหินทราย ขนาดหน้าตัก 1.77 เมตร สูง 2.10 เมตร เป็นงานพุทธศิลป์สมัยอยุธยา มีรัศมีทรงกรวย เม็ดพระศกเล็กไม่มีขอบไร มีพระพักตร์ (หน้า) กลมแป้น พระเนตร (ดวงตา) เหลือบต่ำลง มีดวงพระเนตร พระศอ (คอ) เป็นชั้น จีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภีมีลักษณะพับซ้อน ชายสังฆาฏิแบบเขี้ยวตะขาบ มีเส้นของสบง 2 เส้น ชายจีวรเป็นเส้นโค้ง พระหัตถ์ขวาซ้อนทับ พระหัตถ์ซ้าย ข้อพระกรขวามีรูปทรงคล้ายทองกร หรือกำไลข้อมือ
ปัจจุบันหลวงพ่อโสธรมีอายุครบ 253 ปี ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมศิลป์และวัดโสธร ได้ทำการบูรณะองค์หลวงพ่อโสธรมาหลายครั้งด้วยกัน โดยล่าสุด ได้ทำการบูรณะองค์หลวงพ่อโสธรและพระพุทธรูปบริวาร ทั้ง 17 องค์ ตั้งแต่ช่วงวันที่กลางปีที่แล้ว (2565) จนแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีหลังมีภาพองค์หลวงพ่อโสธรในช่วงการบูรณะใกล้จะแล้วเสร็จถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้มีกราม่าเล็ก ๆ ในโลกโซเชียลเป็นประเด็นให้ชาวเน็ตถกเถียงกันว่าพระพักตร์ของท่านเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม กระทั่งเมื่อภาพองค์หลวงพ่อโสธรหลังการบูรณะเสร็จสิ้นปรากฏ ดราม่าในเรื่องนี้ก็เงียบหายไปตามภาพและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
โดยหลักฐานการบูรณะหลวงพ่อโสธรจากอดีตที่ผ่านมา ๆ จะเห็นได้ว่าพระพักตร์ของท่านจะมีความเหมือน คล้าย และผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามแต่ละยุคของการบูรณะ ซึ่งพระครูสุตธรรมาภรณ์ ผศ.ดร. รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (พระอารามหลวง) รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้โพสต์เฟซบุ๊บัญชีรายชื่อ Samran Chan นำภาพหายากของการบูรณะหลวงพ่อโสธรในอดีตถึงปัจจุบันมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างของพระพักตร์ในแต่ละยุค พร้อมทั้งได้โพสต์ข้อความเพื่ออธิบายภาพทั้งหมด 13 ภาพ ดังนี้ (ตามภาพประกอบที่มีหมายเลขในบทความ)
#หลวงพ่อโสธรเหมือนหรือไม่เหมือนเดิม
๑. ภาพถ่ายประมาณ รัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๖
๒. ภาพถ่ายประมาณ รัชกาลที่ ๖
๓. ภาพถ่ายประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗
๔. ภาพถ่ายประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
๕. ภาพถ่ายหลวงพ่อโสธรในขณะสร้างพระอุโบสถ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๐
๖. ภาพถ่ายหลวงพ่อโสธรหลังสร้างพระอุโบสถเสร็จ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๐
** ลำดับที่ ๕-๖ เพราะไม่ได้บูรณะเป็นเวลานาน เมื่อสาธุชนปิดทองพอกหนาขึ้นมากๆ พระสกแทบจะไม่มีช่อง เรียบไปจนทั่ว พระเนตร พระโอษฐ์ หนาพองขึ้นมาก จึงทำให้แปลกจากลำดับอื่นๆ
๗. หลังจาก ปิดทอง ลูกนิมิต ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว จึงทำการบูรณะ องค์หลวงพ่อโสธร ซ่อมส่วนที่ชำรุด แล้วลงรัก ปิดทอง แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใดๆ มีคนออกมา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าหลวงพ่อเปลี่ยนไป เหมือนกัน
๘. ต่อมาได้มีทำสีแบบสมัยใหม่ เพื่อให้สีทองสดใส
๙. ไม่นานนักก็เกิดการชำรุด ผิวนอกกะเทาะ เสียหาย ทำให้มีการ บูรณะครั้งปัจจุบัน
๑๐. ทำการกะเทาะและลอกสีออก ให้เห็นรักเดิม และปูนที่ฉาบไล้ไว้บางๆ
๑๑. ภาพจากกรมศิลปากร ลอก/ล้างสิ่งอื่นๆ ออก ให้เห็นเนื้อในเป็นหินทรายแกะสลัก เป็นชิ้นๆ ต่อกัน
๑๒. ทำการลงรัก และบ่มรักไว้ ระยะเวลาหนึ่ง
๑๓. ปิดทอง (แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย)
*มีคนดราม่าว่า “หลวงพ่อโสธรไม่เหมือนเดิม”
**ถ้านำภาพปัจจุบัน (๑๓) เปรียบเทียบกับ ภาพที่ ๕ – ๘ จะไม่เหมือน หรือไม่คล้ายกันอย่างมาก
*** ถ้านำภาพปัจจุบัน (๑๓) เปรียบเทียบกับ ภาพที่ ๑ - ๔ ภาพโบราณ และภาพที่ ๑๑ ที่กรมศิลปากร ลอกทอง-รัก และอื่นๆ ออก ให้เห็นเนื้อหินทรายเดิมแล้ว มีความเหมือน หรือคล้ายกันอย่างมาก
#นำหลวงพ่อไปเทียบกับช่วงใดจึงบอกว่าเปลี่ยนไป !!!
ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ หนุ่มรัตนะพันทิป ณล ก็ได้แสดงทัศนะระบุว่าการบูรณะที่ผ่านมาพระพักตร์ของหลวงพ่อโสธรไม่เหมือนกันสักรุ่น แต่การบูรณะครั้งล่าสุด (2565-2566) พระพักตร์ขององค์หลวงพ่อโสธรมีความใกล้ชิดกับเนื้อจริง ๆ ที่เป็นเนื้อหินทรายแดงมากที่สุด โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ หนุ่มรัตนะพันทิป ณล ได้โพสต์ข้อความ ดังนี้
อากาศเดือนมีนาคมร้อน อย่าเพิ่งคลั่ง ตั้งสติกันก่อนนะครับ เรื่องใบหน้าหลวงพ่อโสธร
จะบอกให้ว่าตั้งแต่ปี 2497 / 2540 / 2550 / 2566 หน้าตาหลวงพ่อโสธรไม่เหมือนกันสักรุ่นเลยครับ แต่ที่สำคัญปี 2566 นี้ใบหน้าองค์หลวงพ่อใกล้ชิดกับเนื้อจริงๆ คือเนื้อหินทรายแดงมากที่สุดแล้ว จากที่ผมสังเกตุการบูรณะที่ผ่านมาพบว่า
องค์หลวงพ่อโสธรของโบราณเป็นหินทราย + หุ้มปูนหนา + ปิดทอง
องค์หลวงพ่อโสธรรุ่นปี 2550 เป็นหินทราย + หุ้มปูนบาง + สีอาคริลิคทอง
องค์หลวงพ่อโสธรรุ่นปี 2566 เป็นหินทราย + โป้วบาง + ลงรัก + ปิดทองคำแท้
ดังนั้นแล้วทั้งหมดแห่งการบูรณะก็ทำให้หน้าตาเปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อที่หุ้มและรักที่ปิด แต่จะบอกว่าของปี 2566 นี้คมสวยสุดเพราะใกล้เนื้อหินองค์หลวงพ่อสุดแล้ว หน้าเดิม ๆ
และนี่ก็คือเรื่องราวบางส่วนของการบูรณะหลวงพ่อโสธร กับภาพเปรียบในอดีตถึงปัจจุบันที่หาชมไม่ได้ง่าย ๆ ซึ่งใครจะมองว่าในการบูรณะครั้งล่าสุดพระพักตร์ของ “เหมือน”หรือ “ไม่เหมือน” พระพักตร์เดิมก็เป็นไปตามมุมมองและความคิดของคนนั้น ๆ