xs
xsm
sm
md
lg

ยลวัดงาม “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” อารามหลวงแห่งแรก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร อารามหลวงแห่งแรก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
วัดวาอารามในกรุงเทพฯ มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งด้วยกัน หากใครมาเยือนย่านพระนครหรือท้องสนามหลวง ก็อยากชวนมาเข้าวัดไหว้พระที่ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” นอกจากจะได้ทำบุญเสริมสิริมงคลแล้ว ยังได้ยลความงดงามของอารามหลวงแห่งแรกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์กันด้วย

“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑) มาพบวัดนี้ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ และสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็น “พระอารามหลวงแห่งแรก” ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงขอพระราชทานพระอารามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “วัดนิพพานนานาม”

บริเวณภายในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” จากนั้นพระองค์ทรงประชุมพระราชาคณะให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และจัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่วัดแห่งนี้ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า

เมื่อ พ.ศ.2346 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เรียกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหารว่า “วัดมหาธาตุ” ด้วยเหตุว่านามวัดดังกล่าวเป็นหลักของพระนครที่มีทุกราชาธานีในประเทศนี้ จึงควรต้องมีในพระนครอมรรัตนโกสินทร์ อีกทั้งพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป ซึ่งเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุก็มีอยู่ในพระอาราม และเป็นพระอารามที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชเหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่า จึงพระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ว่า “วัดมหาธาตุ”

พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อปฎิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”

สำหรับสิ่งสำคัญภายในวัดแห่งนี้ คือ “พระมณฑป” สิ่งหนึ่งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างให้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานของวัด โดยสร้างไว้ด้านทิศตะวันออกกึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร พระองค์ทรงเอาเครื่องไม้ที่จะทรงสร้างปราสาทในวังหน้า นำมาสร้างพระมณฑป แต่มณฑปที่สร้างด้วยเครื่องไม้นั้นถูกเพลิงไหม้ พระอุโบสถและพระวิหารก็ถูกไหม้ในครั้งนั้นด้วย พระองค์ก็ทรงให้สร้างพระมณฑปใหม่ให้เป็นหลังคาทรงโรงอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน พระมณฑปนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ

พระปรางค์
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.2387 ทรงบูรณะวัดมหาธาตุโดยการก่ออิฐถือปูนทั้งพระอาราม ส่วนการบูรณะพระมณฑปให้รื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ลงรักปิดทองพระเจดีย์ทอง ประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง

ใบสีมาสลักเป็นรูปครุฑยุดนาค
ส่วน “พระอุโบสถ” ในอดีตกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างไว้ ถูกเพลิงไหม้ในคราวเดียวกับพระมณฑป พระองค์ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยขยายตัวอาคารพระอุโบสถออกถึงแนวเขตสีมาจนเกือบชิดกับพระมณฑป จึงยกสีมาขึ้นติดกับแนวผนัง ประตูติดตั้งให้เปิดออกด้านข้าง ลักษณะพระอุโบสถอย่างนี้มีเพียง 2 แห่งคือวัดมหาธาตุกับวัดชนะสงคราม เพราะทั้ง 2 วัดนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง

พระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ปัจจุบันพระอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยฐานสูง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบสีมาสลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” และ พระอรหันต์ ๘ ทิศ ซึ่งพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ถือเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จุพระสงฆ์ได้ถึง 1,000 รูป นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์อีกด้วย

พระประธานในพระอุโบสถ นามว่า พระศรีสรรเพชญ์

ภายในพระวิหาร
ใกล้กันมี “พระวิหาร” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ โดยมี “หลวงพ่อหิน” เป็นหนึ่งในห้าพระประธานในพระวิหารนี้ มีพุทธานุภาพเป็นที่ปรากฏตามประวัติศาสตร์ และมี “ศิลาจารึก” แผ่นศิลาจารึกดวงชะตานี้ สร้างในปี พ.ศ.2228 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถูกบรรจุไว้ที่ฐานพระประธาน เป็นเวลา 238 ปี ถูกถ่วงไว้อยู่ในสระทิพยนิภา เป็นเวลา 33 ปี และนำมาเก็บไว้ในพระวิหาร เป็นเวลา 62 ปี ในปี พ.ศ.2561 ศิลาจารึกแผ่นที่มีอายุได้ 333 ปี ซึ่งน่าจะเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ มีอายุประมาณ ๓๓๔ ปี เพราะเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

หลวงพ่อหิน

แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา
เดิมแผ่นศิลาจารึกนี้ติดอยู่ที่แท่นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และเป็นพระประธานประจำ วัดมหาธาตุ (เมื่อคราวที่ยังเป็น วัดสลัก) เมื่อมีการเคลื่อนย้ายพระประธานไปไว้ในวิหาร จึงสร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมครอบวิหารหลังเก่าไว้ ฐานพระประธานใน โบสถ์เก่านั้นอาจจะยังไม่ได้รื้อในคราวนั้น มารื้อตอนเมื่อสร้างกุฏิในปลายรัชกาลที่ ๓ และเมื่อรื้อแล้วจึงได้นำศิลาจารึกแผ่นนี้ไปเก็บไว้ในพระวิหาร

พระปรางค์
บริเวณเขตพระระเบียง ด้านเหนือพระวิหารและด้านใต้ของพระอุโบสถ มีเจดีย์ด้านละ 2 องค์ พระปรางค์ด้านละองค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ หุ้มด้วยดีบุก และบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ เอาดีบุกออก พระปรางค์องค์ใหญ่ 2 องค์ด้านหน้าพระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของสมเด็จพระสังฆราช (ศุข) และสมเด็จพระสังฆราช (มี)

บริเวณเขตพระระเบียง
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวง ถนนท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-18.00 น.

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel  MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น