ใครที่ชอบการเดินชมสถาปัตยกรรมสวยๆ ของสถานที่ท่องเที่ยว และกำลังมองหาที่เที่ยวที่ถ่ายรูป ครั้งนี้ขอชวนมาเดินทอดน่องส่องความงดงามของ 5 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญรอบสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
บริเวณรอบสนามหลวง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่
ศาลหลักเมือง
เริ่มจากมากราบสักการะองค์พระหลักเมือง ที่ “ศาลหลักเมือง” ความเป็นมาของศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น สืบเนื่องมาจากประเพณีโบราณในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธีการยกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรสำหรับยึดถือทางจิตใจว่าบ้านเมืองที่สร้างขึ้นนั้น มีรากฐานฝังไว้อย่างแน่นอนแล้ว ให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขรุ่งเรืองสถาพรตลอดไป
นอกจากพระหลักเมืองแล้ว บริเวณศาลหลักเมืองยังมีเทพารักษ์ผู้พิทักษ์ให้ความร่มเย็นแก่บ้านเมืองอีก 5 องค์ด้วยกัน คือ “พระเสื้อเมือง” มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกราน “พระทรงเมือง” มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
วัดพระแก้ว
บริเวณที่อยู่ใกล้กับศาลหลักเมือง จะเป็นที่ตั้งของ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดพระแก้ว” ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม ถือเป็นที่รวบรวมแห่งศิลปกรรมของไทยเลยก็ว่าได้
สิ่งน่าสนใจในวัดพระแก้วมีให้ชมงดงามหลากหลาย และจุดที่ไม่ควรพลาดอยู่ที่พระอุโบสถ มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานพระอุโบสถหย่อนท้องช้างเป็นเส้นโค้ง หลังคาทรงไทย 4 ชั้นลด หน้าบันจำหลักลายรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมรอบด้วยลายก้านขดเทพนม ลงรักปิดทองประดับกระจก
ภายในพระอุโบสถนั้นจะมีองค์พระประธานมีชื่อเต็มว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากหินสีเขียวงดงาม หรือที่เรียกกันว่า “พระแก้วมรกต” มีพระพุทธลักษณะเป็นศิลปแบบล้านนาตอนปลาย ประทับนั่งปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ องค์พระแกะสลักจากเนื้อหยกสีเขียวทึบชิ้นเดียว
วัดโพธิ์
อีกหนึ่งวัดงามที่อยู่ไม่ไกลกันก็คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” หนึ่งในปูชนียสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้ไม่เพียงเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทย แต่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่สำคัญทรงคุณค่าในระดับโลก
ต้นตำรับการนวดวัดโพธิ์ ก็ถือเป็นจุดกำเนิดการนวดแผนไทย ซึ่งนวดแผนไทย ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ นอกจากนี้ วัดโพธิ์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมศาสตร์ และศิลป์ที่สำคัญไว้หลากหลายแขนง วิจิตรงดงามไปด้วยสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนจากทั่วโลก
ประวัติโดยย่อของ “วัดโพธิ์" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เดิมชื่อ “วัดโพธาราม" เป็นวัดโบราณที่ราษฎรสร้างไว้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เสวยพระราชสมบัติ และทรงย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงปฎิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่บริเวณเดียวกันไปด้วย
สิ่งที่พลาดไม่ได้ คือ “พระพุทธไสยาส” ซึ่งเปรียบเสมือนภาพแทนสัญลักษณ์ของวัดโพธิ์ ซึ่งพระพุทธไสยาสเป็นพระพุทธรูปปางโปรด อสุรินทราหู ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธรูปนอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
อีกหนึ่งวัดที่ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง เขตพระนคร ก็คือ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระธาตุ เป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกายชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดสลัก เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2326 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา สุรสิงหนาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ วัดสลัก ขึ้นใหม่แล้วพระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2331 รัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนี้เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎก และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระศรีสรรเพชญ และต่อมาพระองค์ได้พระราชทานนามใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็น วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุ และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
ภายในพระมณฑป บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคาร ทรงไทยฐานสูง หน้าบันเป็นไม้แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจก ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จุพระสงฆ์ได้ถึง 1,000 รูป และเป็นที่ตั้งของ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของสงฆ์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดิมเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" หรือวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ต่อมาในปี พ.ศ.2469 รัชกาลที่ 7 ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ โดยถือเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย
ปัจจุบันมีโบราณวัตถุจัดแสดงตามห้องต่างๆ นอกจากมีโบราณวัตถุให้ชมมากมายแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline