xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์ฯ สิริกิติ์” โฉมใหม่ หรูหรา อลังการ สมศักดิ์ศรีที่จัดประชุม APEC 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


ศูนย์ฯ สิริกิติ์ สถานที่จัดประชุม APEC 2022 (ภาพจาก : qsncc.com)
พาไปรู้จักกับ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” สถานที่จัดประชุม APEC 2022 THAILAND หลังปรับโฉมใหม่ ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า ถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power เมืองไมซ์ของไทยอวดสู่สายตาชาวโลก

ประเทศไทยถูกจับจ้องจากสายตาของคนทั่วโลกอีกครั้ง ในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 THAILAND ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

APEC 2022 THAILAND จะมีการจัดสัปดาห์การประชุมผู้นำเอเปคขึ้น ในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 65 และมีการประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ 18-19 พ.ย. 65 โดยใช้ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เป็นสถานที่จัดประชุมและการจัดงานดังกล่าว ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับศูนย์การประชุมแห่งนี้ ที่ได้ปรับปรุงโฉมใหม่เสร็จเมื่อไม่นานมานี้

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ หลังปรับปรุงโฉมใหม่ (ภาพจาก : qsncc.com)
กำเนิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” (Queen Sirikit National Convention Center : QSNCC) ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์การประชุมระดับนานาชาติขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เกิดขึ้นจากที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 ที่ กรุงเทพมหานคร ทางรัฐบาลไทยจึงมีมติให้ก่อสร้างสถานที่จัดงานประชุมแห่งชาติที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นสถานที่ในการรองรับการประชุมครั้งสำคัญดังกล่าว โดยในการสร้างศูนย์ประชุมแห่งนี้ ได้มีการกำหนดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เดิม
จากนั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2533 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารของศูนย์การประชุมแห่งนี้

ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535

บรรยากาศภายใน ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เดิม
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เดิม มีพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้ราว 10,000 คน มีคูหาแสดงสินค้า 900 คูหา บริเวณด้านหน้าศูนย์การประชุมมี “โลกุตระ” ประติมากรรมคล้ายกริยาการไหว้ ของคนไทย อันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์การประชุมที่ได้รับเกียรติออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์ “ชลูด นิ่มเสมอ”

ทั้งนี้หลังประสบจากการจัดประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เดินหน้าสู่บทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE - Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) ในบ้านเรามาจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่


ศูนย์ฯ สิริกิติ์ หลังปรับปรุงโฉมใหม่ (ภาพจาก : qsncc.com)
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 เพื่อดำเนินการปรับปรุงครั้งใหญ่ ใช้เวลารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ปี จึงกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หลังใหม่อย่างเป็นทางการ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปัจจุบัน มีเป้าหมายเป็น “ที่สุดของพื้นที่จัดกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน” (The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All) โดยมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อครอบคลุมธุรกิจไมซ์ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกเต็มรูปแบบสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ รองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการสวนเบญจกิติและสวนป่าที่อยู่ติดกัน

บริเวณชั้น 1 (ภาพจาก : qsncc.com)
ขณะที่อาคารหลังปัจจุบันของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา ต่อยอด” และลายผ้าไทยซึ่งปรากฏในฉลองพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ มีพื้นที่ 300,000 ตารางเมตร (ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า) ประกอบด้วยพื้นที่จัดอีเวนท์ 78,500 ตารางเมตร พื้นที่ค้าปลีก 11,000 มีฮอลล์ขนาดใหญ่ 8 ห้อง, ห้องเพลนารี 4 ห้อง, ห้องบอลรูม 4 ห้อง และห้องประชุม 50 ห้อง สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากสุด 100,000 คนต่อวัน โดยมีพื้นที่จอดรถ 3,000 คัน อีกทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีอันทันสมัย รองรับการจัดงานทุกรูปแบบ

ประติมากรรมเมล็ดข้าวบริเวณโถงบันไดหลัก (ภาพจาก : qsncc.com)
ในส่วนของไฮไลท์งานศิลปะที่ประดับศูนย์การประชุมแห่งนี้ นอกจาก ประติมากรรมโลกุตระที่มีมาแต่เดิมแล้วก็ยังมี ประติมากรรม “เมล็ดข้าว” (The Rice) ผลงานการสร้างสรรค์ของ “สาธิต กาลวันตวานิช” และทีมงาน

เมล็ดข้าวเป็นประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ สื่อถึงความเป็นอู่ข้าวอู่นํ้าระดับโลกของเมืองไทย มีลักษณะของเมล็ดข้าวเป็นครีบ 19 ชั้น สูง 8 เมตร ตกแต่ง (แขวน) อยู่บริเวณโถงบันไดหลัก อวดโฉมแก่ผู้คนที่เข้ามาในศูนย์การประชุมแห่งนี้

บริเวณชั้น 2 (ภาพจาก : qsncc.com)
สำหรับในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 THAILAND ในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น นาย “ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (บริษัทที่บริหารงานศูนย์ฯ สิริกิติ์) เปิดเผยว่า การได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานเอเปค 2022 และต้อนรับผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในครั้งนี้ ในฐานะที่เราเป็นเสมือนห้องรับแขกของประเทศไทยและเป็นตัวแทนของคนไทยเราได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้านในการต้อนรับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดงานเอเปค 2022 ในครั้งนี้ จะนำความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยอย่างแน่นอน

บรรยากาศงานมหกรรมหนังสือ 12-23 ต.ค. 65 ที่ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ (ภาพจาก : เพจ QSNCC)
และนี่ก็คืออีกหนึ่ง Soft Power ของไทยที่จะปรากฏต่อสายตาชาวโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งจะช่วยตอกย้ำ ความเป็น “เมืองไมซ์พัฒนามากที่สุด” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัล “Most Improved Award 2022” ในฐานะเมืองที่มีคะแนนปรับปรุงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมไมซ์และท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามากที่สุด(73.66%) จาก Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) มาสด ๆ ร้อน ๆ

นอกจากนี้ APEC 2022 THAILAND ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก่อให้เกิดรายได้ในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนภาคบริการต่าง ๆ รวมถึงเป็นการประกาศศักดา Soft Power ไทย ไม่วาจะเป็น วัฒนธรรม การท่องเที่ยว อาหาร การแต่งกาย ของที่ระลึก รวมถึงความเป็นเมืองไมซ์อวดสู่สายตาชาวโลก ซึ่งขอเชิญชวนคนไทยให้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีจากการประชุม APEC 2022 ครั้งนี้ด้วย

ด้านหน้าศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่  (ภาพจาก : qsncc.com)

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมประชุมเอเปค 2022 (ภาพจาก : qsncc.com)




กำลังโหลดความคิดเห็น