พาไปรู้จักกับ “วัดศรีสุพรรณ” ที่มีอุโบสถเงินสุดวิจิตรหลังแรกของโลก นอกจากนี้ก็ยังมี “ท้าวเวสสุวรรณ” คู่ทำจากเงิน และงานศิลปะจากเงินอีกหลากหลาย หลังเกิดเหตุเศร้าพระธาตุโบราณเก่าแก่กว่า 500 ปีพังถล่ม เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้า เมื่อพระธาตุเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี ที่ “วัดศรีสุพรรณ” พังถล่มลงมา จากฝนที่ตกติดต่อกันมาหลายวัน โดยภายหลังการพังทลายขององค์พระธาตุ ได้มีการพบวัตถุมงคลด้านในจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว แก้วหิน และโบราณวัตถุต่าง ๆ
ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย เบื้องต้นพบว่าองค์พระธาตุด้านในเป็นโบราณสถานแต่มีการก่อทับด้านนอกด้วยซีเมนต์ และไม่มีการเสริมโครงสร้างรองรับ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบเศษวัสดุและโบราณวัตถุอย่างละเอียด เพื่อสืบค้นยุคสมัยที่แน่ชัด พร้อมวางแผนบูรณะซ่อมแซมต่อไป
สำหรับ “วัดศรีสุพรรณ” เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่โด่งดังขึ้นชื่อในเรื่องของ “อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” ที่สร้างขึ้นอย่างงดงามวิจิตร รวมถึงมี “ท้าวเวสสุวรรณเงินคู่” 2 องค์ที่สร้างจากเงินสะท้อนอัตลักษณ์ชองชุมชน ซึ่งเราจะขอพาไปรู้จักกับวัดแห่งนี้กัน
วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ภายในชุมชนหัตถกรรมช่างหล่อ และหัตถกรรมเครื่องเงินของถนนวัวลาย ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินเลื่องชื่อของจังหวัดเชียงใหม่
วัดศรีสุพรรณ มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2043 ในรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ราชธานี และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า ที่โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “วัดศรีสุพรรณอาราม” ซึ่งต่อมาคนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดศรีสุพรรณ”
วัดศรีสุพรรณมี 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ได้แก่
-“พระบรมธาตุวัดศรีสุพรรณ” อายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ที่เพิ่งพังถล่มลงไปตามที่ปรากฏไปข้างต้น พระธาตุองค์นี้เดิมก่อนพังถล่ม เป็นเจดีย์ที่ก่ออิฐถือปูนแบบล้านนา ฝีมือช่างหลวง องค์ระฆังเป็นทรงกลม ตั้งบนฐานดอกบัวคว่ำบัวหงายแปดชั้นแปดเหลี่ยม ตั้งบนฐานรองรับทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สามสิบหก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบูรณะมาหลายครั้งแล้ว อีกทั้งยังมีข้อมูลระบุว่าพระธาตุองค์นี้มีลักษณะที่เอียงได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว
-“พระเจ้าเจ็ดตื้อ” พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย ที่เป็นองค์พระประธานของวัดศรีสุพรรณ ซึ่งตามหลักศิลาจารึกของวัดศรีสุพรรณกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ.2043 พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ในราชวงศ์มังราย และพระนางสิริยสวดี พระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้เจ้าหมื่นหลวงจ่าคำมหาอำมาตย์ นำพระพุทธรูปทองสำริดองค์หนึ่งมาถวายให้เป็นพระประธานในอุโบสถเมื่อคราวที่สร้างวัดแห่งนี้
พระเจ้าเจ็ดตื้อ เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่ โดยมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า องค์พระเจ้าเจ็ดตื้อได้เคยแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการลงสรงน้ำในสระข้างโบสถ์ และได้ประทานพรแก่ผู้มาอธิษฐานจิตให้ประสบความสำเร็จสมมารถปรารถนา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้มีญาณพิเศษ ทำให้พระเจ้าเจ็ดตื้อมีชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “พระพุทธปาฏิหาริย์”
นอกจาก 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญแล้ว วัดศรีสุพรรณยังมี “วิหาร” เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” โดยพระเจ้ากาวิโรรส ต่อมาในปี พ.ศ.2537 พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทุธสีโล) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พร้อมคณะกรรมการได้ทำการปฏิสังขรณ์วิหารหลังนี้ โดยผสมผสานศิลปะร่วมสมัยเพิ่มเข้าไป แต่ยังคงรักษางานพุทธศิลป์ของเดิมเอาไว้
พร้อมทั้งได้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระธาตุ 12 ราศี ภาพพระธาตุเจดีย์ ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในอดีตและภาพปริศนาธรรมโลกทั้ง 3 รวมถึงได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลาย ภาพพระพุทธประวัติ ภาพพระเจ้าสิบชาติ ภาพพระเวสสันดรชาดก ประดับตกแต่งฝาผนังวิหาร
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2547 ทางวัดศรีสุพรรณยังได้สร้างอุโบสถหรือ โบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนโบสถ์หลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม โดยโบสถ์หลังใหม่นี้เป็น “อุโบสถเงินหลังแรกของโลก” ที่เหล่าสล่าร่วมมือกันสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นงานพุทธศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา และเทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙ โดยได้นำเอาอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญาของถิ่นของการเป็นชุมชนช่างทำเงิน มาสร้างสรรค์เป็นโบสถ์สีเงินอันงดงามวิจิตร ดูน่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อ “ฝากศิลป์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙”
โบสถ์เงินหลังแรกของโลกแห่งวัดศรีสุพรรณ ใช้วิธีการก่อสร้างจากฐานและพัทธสีมาที่อ้างอิงจากพระประธานของโบสถ์หลังเดิม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างก่ออิฐถือปูน มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 17.50 เมตร และสูง 18 เมตร
ภายนอกและภายในโบสถ์ตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยงานฝีมือเครื่องเงินบริสุทธิ์ บุ ดุนลาย จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมด้วยงานจากเงินผสมดีบุก อลูมิเนียม และวัสดุแทนเงิน ที่บรรดาช่าง สล่า ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างประณีตงดงามวิจิตร
ภายนอกโบสถ์มีการดุนลายตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ส่วนบริเวณบันไดสร้างเป็นรูปพญานาคที่สร้างจากโลหะเงินดูนลาย, ด้านหน้าใต้เพดานหลังคา ด้านขวามีการแกะลายเป็นธนบัตรฉบับละ 1 พันบาท, ใต้เพดานด้านซ้ายเป็นพระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ จำนวน 36 แผ่น และภาพวิถีตามรอยพ่อกับชีวิตพอเพียง ขณะที่ทับหลังประตูพระอุโบสถมีการแกะลวดลายเหล่าเทวดาที่สวยงาม
ฐานพระอุโบสถด้านข้าง และด้านหลังเป็นการดุนลายเมืองสำคัญที่เป็นมรดกโลก หรือเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกผนังด้านหลังพระอุโบสถเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ส่วนภายในโบสถ์ ประดิษฐานพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือ พระพุทธปาฏิหาริย์ เป็นองค์พระประธานตามแบบของเดิม ผนังภายในประดับตกแต่งด้วยโลหะเงินดุนลาย เป็นลวดลายต่าง ๆ โดยส่วนที่สำคัญทำด้วยเครื่องเงินแท้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นพระพุทธรัตน พระพุทธรูปดุนลาย ประวัติพระพุทธเจ้า ส่วนที่ 2 พระธรรมรัตน เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ และส่วนที่ 3 พระสังฆรัตน ที่ประดิษฐานพระอรหันตธาตุ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางวัดศรีสุพรรณได้มีกฎห้ามผู้หญิงเข้าไปภายในอุโบสถเงินโดยเด็ดขาด
นอกจากโบสถ์เงินหลังแรกของโลกแล้ว วัดศรีสุพรรณยังมีงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากเงินอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูป พระพิฆเนศ และที่มาแรงก็คือ องค์ “ท้าวเวสสุวรรณเงินคู่” ยืนทำหน้าที่ปกปักพระพุทธศาสนาอยู่หน้าองค์พระพุทธรูปเงิน
ท้าวเวสสุวรรณคู่ 2 องค์นี้เป็นประติมากรรมทำจากเงิน สร้างอย่างประณีตงดงาม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแรงแห่งยุคที่มีคนเดินทางมากราบไหว้ขอพร และถวายดอกกุหลาบแดงกันไม่ได้ขาด
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของวัดศรีสุพรรณ ที่มีพระอุโบสถเงินแห่งแรกของโลกที่สร้างได้อย่างงดงามวิจิตร รวมถึงมีงานพุทธศิลป์ที่รังสรรค์จากเงินอย่างสวยงามอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นหนึ่งในศาสนสถานที่อุดมไปด้วยงานศิลปกรรมที่ทำจากเงินที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ดีหลังเกิดเหตุพระธาตุวัดศรีสุพรรณพังถล่มเนื่องจากฝนตกติดต่อมาหลายวัน ทำให้คนส่วนหนึ่ง เกรงว่าจะเกิดอาเพศขึ้น แต่ทางเจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ได้ออกมายืนยันว่าที่พระธาตุเจดีย์พังถล่มเป็นเพราะเป็นองค์พระธาตุสร้างขึ้นมานานแล้วกว่า 500 ปี อีกทั้งยังเป็นโครงสร้างแบบโบราณ ไม่ได้มีการเสริมเหล็กรับน้ำหนักแบบปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาองค์พระธาตุได้เกิดรอยร้าวมาสักพักหนึ่งแล้ว เมื่อโดนฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ดินในองค์พระธาตุจึงอุ้มน้ำมากขึ้น ทำให้พังถล่มลงมา ไม่ได้เกิดจากเหตุอาเพศแน่นอน
สำหรับองค์พระธาตุวัดศรีสุพรรณนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง “กฎไตรลักษณ์” คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป อย่างชัดเจน
เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกล้วน “อนิจจัง”