xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “ครอบพระเศียรทองคำ” มรดกชาติล้ำค่า ที่อเมริกาส่งคืนให้ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี



พาไปรู้จักกับ “ครอบพระเศียรทองคำ” มรดกชาติโบราณวัตถุล้ำค่า ที่สหรัฐอเมริกาส่งกลับคืนให้ประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศ

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของบ้านเราเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืน “ครอบพระเศียรทองคำ” กลับสู่มาตุภูมิประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นผู้แทนประเทศไทยรับมอบจากชาวอเมริกัน และส่งให้กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับครอบพระเศียรทองคำ ที่ประเทศไทยได้รับกลับคืนจากอเมริกา เป็นเครื่องประดับพระเศียรพระพุทธรูป ซึ่งทางสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตรวจสอบเนื้อวัสดุแล้วพบว่าเป็นทองคำ 95 %

ครอบพระเศียรทองคำชิ้นนี้ ประกอบด้วย ส่วนครอบพระเศียรกว้าง-ยาว 14 x 17.6 ซม. หนัก 12.7 กรัม และส่วนพระรัศมีสูง 12.7 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ซม. หนัก 29.9 กรัม ใช้เทคนิคดุนทองและตีทอง เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งขณะนี้กรมศิลปากรได้เก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อการศึกษาและจะนำจัดแสดงในนิทรรศการต่อไป

ทั้งนี้หลังครอบพระเศียรทองคำดังกล่าวถูกส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีชื่นชมและขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันทุ่มเททำงานอย่างหนัก พร้อมกับกล่าวขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่ให้ความร่วมมือ จนสามารถส่งมอบโบราณวัตถุล้ำค่า คือ ครอบพระเศียรทองคำ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กลับสู่ประเทศไทยได้เป็นที่เรียบร้อย

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 รัฐบาลสามารถติดตามโบราณวัตถุกลับไทยแล้ว ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ที่ถูกขโมยไปนานเกือบ 60 ปี นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับประติมากรรมสำริด โบราณคดีประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์ ซึ่งมีแนวโน้มอาจได้กลับคืนประเทศไทยในลำดับถัดไป อย่างไรก็ตาม ไทยต้องให้ทางสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ดำเนินการตามกฎหมายก่อน

นางสาวรัชดาฯ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังมีโบราณวัตถุของไทยที่ถูกนำออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากทั้งที่จัดแสดงและเก็บรักษาภายในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ อยู่ในความครอบครองของเอกชน หรือมูลนิธิเอกชน สถาบัน การศึกษา หรือซื้อขายผ่านสถาบันการประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เป็นต้น นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คณะทำงานขยายผลการทวงคืนไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีข้อมูล รวมถึงในยุโรป โดยประสานงานผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศให้กลับมาเป็นสมบัติและมรดกวัฒนธรรมของชาติ





กำลังโหลดความคิดเห็น