xs
xsm
sm
md
lg

สดช.ตอกย้ำความสำเร็จ “Digital Cultural Heritage” เร่งผลักดัน มรดกวัฒนธรรมไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เปิดประตูสู่สากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดช. ระดมไอเดียหลายหน่วยงาน เดินหน้าส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ให้คงอยู่ พร้อมต่อยอดมรดกวัฒนธรรมผสานระบบดิจิทัล เป็นซอฟต์พาวเวอร์สร้างชื่อเสียงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “ภารกิจทั้งสองด้านของโครงการ Digital Cultural Heritage สำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สดช. เล็งเห็นว่า มรดกวัฒนธรรมไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่มีชาติไหนเหมือน
ปัจจุบันมีมรดกวัฒธรรมไทยที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง ภาพยนตร์ไทย แฟชั่น ศิลปะการต่อสู้ อย่างมวยไทย และเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีมรดกวัฒนธรรมไทยอีกจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ผ้าทอลายสร้อยดอกหมากของจังหวัดลำปาง พระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องตุ๊บเท่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทอดทิ้งละเลยให้สูญหายไปตามกาลเวลา

ที่ผ่านมา สดช.ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ Digital Cultural Heritage ทั้งในส่วนของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ที่เชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมไทย “เห็นแต่ไม่เคยรู้” ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ AR อินโฟกราฟฟิก  “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม  เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจึงพบว่า ซอฟต์พาวเวอร์ คือโอกาสสำคัญที่จะสร้างชื่อเสียงให้มรดกวัฒนธรรมไทยไปไกลสู่ระดับโลกได้” 

ซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง ภายใต้แนวคิด 4 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก Cultural Heritage Content หรือมรดกวัฒนธรรมจะไปสู่ระดับโลกผ่านระบบดิจิทัล ควรเริ่มจากพื้นที่ หรือท้องถิ่น ความเข้มแข็งของพื้นที่

ประการที่สอง Digital โดยนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเป็นตัวคูณที่จะทำให้เกิด Impact และ Scale เกิดผลกระทบและขอบเขตได้อย่างกว้างไกลสุดที่จะประเมินได้ ทั้งในมุมของการเก็บรวบรวม การเผยแพร่ และการต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคมแบบทวีคูณ

ประการที่สาม Collaboration ความท้าทายของประเทศ คือ การทำงานร่วมกัน เนื่องด้วยมรดกทางวัฒนธรรมมีความลึกซึ้งและหลากหลาย การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ

ประการสุดท้าย Empower ภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่ในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่จะต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลในอนาคต ซึ่งพลังความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ของคนรุ่นใหม่น่าสนใจมากมาย ต้องกระตุ้นผ่านกระบวนการ เรียนรู้-เล่น-ภาคภูมิใจ

“มหาวิทยาลัย” เชื่อมชุมชน คนท้องถิ่น ยกระดับมรดกวัฒนธรรมจังหวัด
ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทนจากจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “แม้ว่าจังหวัดพิษณุโลกจะมีมรดกวัฒนธรรมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คนทั่วไปกลับรู้จักเพียงไม่กี่อย่าง การที่ได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะในโครงการนี้ ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการยกระดับมรดกวัฒนธรรมของจังหวัดทั้งในรูปแบบของ เมตาเวิร์ส (Metaverse) ดิจิทัลโทเคน (Digital Token) และดิจิทัลคอนเทนท์ในรูปแบบต่าง ๆ 

DEPA สนับสนุนการพัฒนาชุมชนสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “DEPA มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้อยู่ในระดับชั้นนำของโลก และสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน โครงการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัลของ สดช.

ที่ผ่านมามีการทำงานกับพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก จนเกิดโครงการต้นแบบหลายโครงการ และกิจกรรมนำร่องในรูปแบบ Hackathon ที่ให้เยาวชนนำเรื่องวัฒนธรรมมาถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้เห็นว่ายังมีมรดกวัฒนธรรมอีกมากมายที่แอบซ่อนอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รอที่จะได้เป็นที่รู้จัก หากเผยแพร่ผ่านเครื่องมือดิจิทัล ก็จะเกิดประโยชน์ย้อนกลับไปสู่ชุมชนหรือพื้นที่เจ้าของมรดกวัฒนธรรมนั้น” 
ท้องถิ่น พร้อมยกระดับภูมิปัญญาสู่สากล

นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “ที่ผ่านมาหน่วยงานท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ผลสำเร็จจากโครงการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัลด้วย จึงเห็นว่ายังมีมรดกวัฒนธรรมของชาติอีกมากมายในทุกพื้นที่ ทุกท้องถิ่น และงมีความเสี่ยงที่จะสูญหายหากไม่รักษาไว้

การนำเครื่องมือดิจิทัลมาถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นการรักษาแล้ว ยังเกิดประโยชน์กับพื้นที่ทั้งในด้านเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ สร้างความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด ความสมัครสมานสามัคคีของคนในพื้นที่ ในนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับสดช. นำข้อเสนอจากโครงการนี้ ไปสนับสนุน ส่งเสริม ต่อยอด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป”

นี่คือสิ่งที่สะท้อนคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ตอกย้ำว่า เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างชื่อเสียงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มจากรากเหง้าหรือท้องถิ่นทำหน้าที่อนุรักษ์ รวบรวม คัดเลือก ระดมไอเดียและต่อยอดร่วมกันทุกภาคส่วน แล้วใช้ระบบดิจิทัลเป็นตัวคูณ พร้อมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สดช.ก็จะนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากโครงการ  Digital Cultural Heritage ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไป















กำลังโหลดความคิดเห็น