xs
xsm
sm
md
lg

สดช.หนุนท้องถิ่นสร้างซอฟต์เพาเวอร์ด้านวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดช. แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน ชี้ยังมีคลังมรดกวัฒนธรรมไทยอีกมากกระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นไทย แต่ยังไม่ถูกทำให้รู้จัก

นายภุชพงศ์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันมีมรดกวัฒธรรมไทยที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ภาพยนตร์ไทย แฟชั่น ศิลปะการต่อสู้อย่างมวยไทย และเทศกาลสำคัญๆ เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน ยังมีมรดกวัฒนธรรมไทยอีกจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น ผ้าทอลายสร้อยดอกหมาก ของจังหวัดลำปาง พระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องตุ๊บเท่งของจังหวัดเพซรบูรณ์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทอดทิ้งละเลยให้สูญหายไปตามกาลเวลา ทั้งๆ ที่มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ คือ ชอฟต์เพาเวอร์ที่สร้างชื่อเสียงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้น วิธีแก้ไขต้องเริ่มจากรากเหง้าหรือท้องถิ่นทำหน้าที่อนุรักษ์ รวบรวม คัดเลือก ระดมไอเดียและต่อยอดร่วมกันทุกภาคส่วน แล้วใช้ระบบดิจิทัลเป็นตัวคูณ พร้อมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เป็นที่มาของโครงการ Digital Cultural Heritage

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีของการขับเคลื่อนโครงการ Digital Cultural Heritage ทั้งในส่วนของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) จำนวน 6 ครั้ง และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ที่เชิญชวนคนรุ่นใหมให้ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมไทย "เห็นแต่ไม่เคยรู้" ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ AR อินโฟกราฟิก ซึ่งได้มีการจัดงานมอบถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลกว่า 110,000 บาท ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ชนะสร้างผลงานชื่อ MUSIAM แอปพลิเคชันรูปแบบพิพิธภัณฑ์นำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทย

นายภุชพงศ์ กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปสำคัญ 4 ประการ คือ ประการแรก Cultural Heritage Content หรือมรดกวัฒนธรรมจะไปสู่ระดับโลกผ่านระบบดิจิทัลควรเริ่มจากพื้นที่ หรือท้องถิ่น ประการที่สอง Digital โดยนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเป็นตัวคูณที่จะทำให้เกิด Impact และ Scale เกิดผลกระทบและขอบเขตได้อย่างกว้างไกลสุดที่จะประเมินได้ ทั้งในมุมของการเก็บรวบรวม การเผยแพร่ และการต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคมแบบทวีคูณ

ประการที่สาม Collaboration ความท้าทายของประเทศ คือ การทำงานร่วมกัน เนื่องด้วยมรดกทางวัฒนธรรมมีความลึกซึ้งและหลากหลาย การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ เช่นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ที่ผ่านมา มีนิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดถึง 66 ทีม บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุน เป็นต้นประการสุดท้าย Empower ภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่ในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่จะต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลในอนาคต ซึ่งพลังความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ของคนรุ่นใหม่น่าสนใจมากมาย ต้องกระตุ้นผ่านกระบวนการ เรียนรู้-เล่น-ภาคภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม สดช.จะนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากโครงการ Digital Cultural Heritage เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อผลักดันข้อเสนอแนะดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติต่อไป รวมทั้งสนับสนุนท้องถิ่นต่างๆ ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรม พร้อมทั้งจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น