xs
xsm
sm
md
lg

“ท่าช้าง” โฉมใหม่ ดูดีผิดตา สวยคลาสสิกร่วมสมัยในกลิ่นอายประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่าช้างโฉมใหม่ สวยคลาสสิกร่วมสมัยในกลิ่นอายประวัติศาสตร์
“ท่าช้าง” พลิกโฉมครั้งใหญ่ ปรับภูมิทัศน์งดงาม สร้างอุโมงค์ลอดใต้ถนน บันไดเลื่อนทันสมัย ท่าเรือใหม่มาตรฐาน สวยจนแทบจำไม่ได้! แต่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายย่านเก่าประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่ดูสวยคลาสสิก ชวนปักหมุดเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวเช็คอินถ่ายรูปที่ไม่ควรพลาดในกทม.

ท่าช้าง ย่านชุมชนการค้าเก่าแก่ริมน้ำเจ้าพระยา ถือเป็นอีกย่านสำคัญที่หน้าเป็นตาของกรุงเทพมหานคร ด้วยสีสันของย่านค้าขาย จุดเชื่อมต่อการเดินทางทางน้ำ และเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมตึกแถวย้อนยุคที่ตระหง่านงามเยื้องกับวัดพระศรีรัตนาศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง

แต่หากใครไม่ได้มาเยือนท่าช้างมานานเกิน 2-3 ปี อาจจำแทบไม่ได้ เพราะในวันนี้ย่านริมน้ำเปลี่ยนแปลงโฉมใหม่ไปจากเดิมแล้ว ปรับภูมิทัศน์ใหม่หมดจด กลายเป็นความร่วมสมัยโดยยังมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์และความงามคลาสสิคคงไว้ดังเดิม

เราขอชวนมาทำความรู้จักย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้จากอดีตจวบจนปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง


ที่มาของ “ท่าช้างวังหลวง”

บรรยากาศลานทางเดินสู่ท่าเรือท่าช้าง
แม้คนทั่วไปเรียกกันสั้นๆติดปากว่า “ท่าช้าง” ซึ่งเป็นความหมายถึง ท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณชุมชนโดยรอบ แต่ชื่อเต็มของย่านเก่าแห่งนี้ คือ “ท่าช้างวังหลวง

ที่มาของชื่อท่าช้างวังหลวง ต้องย้อนกลับไปในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เพราะพื้นที่ริมแม่น้ำตรงนี้เป็นสถานที่ที่เหล่าคชบาล (คนเลี้ยงช้าง) นำช้างจากวังหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง มาอาบน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีกำแพงเมือง และประตูเมืองชื่อประตูท่าช้าง หรือท่าช้างวังหลวง


ท่าช้างวังหลวง กับชื่อ “ท่าพระ”

รูปช้างโลหะ ประดับไว้เป็นสัญลักษณ์
นอกจากชื่อเรียกท่าช้างวังหลวงแล้ว ที่นี่ยังเคยถูกกล่าวขานกันในนาม “ท่าพระ” ใน พ.ศ. 2351 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากสุโขทัยลงมายังพระนคร เพื่อประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม

พระศรีศากยมุนี เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย และมีขนาดใหญ่มากที่สุดในยุคนั้น รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญองค์พระมาทางน้ำ ล่องแพมาขึ้นที่ท่าช้าง แต่ประตูท่าช้างเดิมมีขนาดคับแคบเกินไป จึงต้องรื้อประตูกับกำแพงออกบางส่วน แล้วสร้างขึ้นใหม่ และทรงพระราชทานนามว่า “ประตูท่าพระ” อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปก็ยังคงนิยมเรียกท่าช้างตามชื่อเดิมมากกว่า

ตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๖


อาคารพาณิชย์บริเวณท่าช้าง ฝั่งเยื้องกับพระบรมมหาราชวัง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ สร้างอาคารด้านที่ติดกับท่าช้างวังหลวง ในปี พ.ศ. 2452 มีผังเป็นรูปตัวแอล (L) อาคารตึกแถงสูงสองชั้นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว งดงามแบบยุโรปซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของการก่อสร้างอาคารในสยามยุคนั้น

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระนครที่ริมถนนมหาราช และสร้างอาคารลักษณะเดียวกันต่อมาทางทิศเหนือเพิ่มเติมอีก รวมกับอาคารเดิมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 34 คูหา โดยบริเวณห้องริมสุดของอาคารแต่ละด้านรวมทั้งห้องมุมถนนมหาราชทำเป็นมุขยื่น มุขชั้นล่างมีเสาลอยขึ้นไปรับระเบียงชั้นบน กันสาดชั้นล่างเป็นรูปโค้ง ส่วนแผงหน้าจั่วประดับลวดลายปูนปั้น (เรียกซุ้มสกัดตัดตอน) และกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตึกแถวริมถนนมหาราชบริเวณท่าช้างวังหลวง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544

การปรับปรุงครั้งใหญ่ของตึกแถวแห่งท่าช้าง


บรรยากาศอาคารตึกแถวยามค่ำคืน
เมื่อวันเวลาล่วงเลย อาคารตึกแถวเดิมบริเวณท่าช้างวังหลวง ก็เริ่มมีสภาพทรุดโทรมไปเรื่อยๆ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์บริเวณท่าช้างทั้งหมด โดยเป็นไปตามหลักการวิชาการและการอนุรักษ์ตามแบบสากล จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 อาคารตึกแถวนีโอคลาสสิคอายุกว่าศตวรรษแห่งย่านท่าช้าง จึงกลับมาโดดเด่นงดงามอีกครั้ง ขณะเดียวกันแผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงบริเวณโดยรอบก็เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้นอีกไม่นาน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมครั้งใหญ่ของย่านเก่าแก่แห่งนี้

ท่าช้างโฉมใหม่ ปี 2565


บันไดเลื่อนทางขึ้นลงอุโมงค์ลอดถนน
ในวันนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์ของย่านการค้าท่าช้างวังหลวง ตลอดจนพื้นที่ท่าเรือท่าช้าง ทำให้ภาพของท่าช้างในอดีตพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง เพราะลานที่เคยคลาคล่ำไปด้วยร้านค้าแผงลอยแออัดเบียดเสียด หรือท่าเรือเก่า ๆ ที่ชินตา ได้รับการพัฒนาปรับภูมิทัศน์ให้โปร่งโล่งสวยงาม มีม้านั่งคอนกรีต มีรูปช้างโลหะสีสดใสประดับไว้ ปูพื้นกระเบื้องสะอาดเอี่ยมอ่อง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจได้ พร้อมทั้งติดตั้งไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน

ความเห็นของผู้ประกอบการร้านค้ารายหนึ่งในย่านท่าช้างกล่าวว่า "การปรับปรุงใหม่ทำให้บริเวณท่าช้างมีความเป็นระเบียบน่ามองกว่าเดิม โดยเฉพาะในเวลากลางคืน จากเดิมที่พอถึงเวลาค่ำมืด บริเวณนี้จะกลายเป็นพื้นที่เปลี่ยว น่ากลัว แต่วันนี้ก็กลายเป็นจุดที่สวยงาม”


ท่าช้างยามค่ำคืนมีไฟส่องสว่างอยู่ทั่วบริเวณ
เมื่อเดินไปถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือเก่าเปลี่ยนแปลงกลายเป็นท่าเรือมาตรฐานที่มีความสวยงาม มีความปลอดภัยมากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ พร้อมห้องน้ำบริการ ขยายพื้นที่รอบๆให้เป็นลานกว้างเดินสะดวกไม่แออัด พร้อมอาคารพักคอยผู้โดยสาร จำนวน 2 หลัง ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องกับทัศนียภาพในเขตเมืองกรุงเก่า โดยแบ่งพื้นที่จุดขึ้นลงเรือโดยสารสาธารณะ และบริษัทเรือนำเที่ยวที่ถูกกฎหมายไว้เป็นสัดส่วน

จุดขึ้นลงเรือข้ามฟากท่าช้าง
ไฮไลท์ใหม่ท่าช้าง “อุโมงค์มหาราช” ลอดถนน

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงใหม่ของท่าช้างที่เคยเป็นประเด็นดังเมื่อเร็วๆนี้ คือ อุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชกับถนนหน้าพระลาน ที่ดำเนินโครงการก่อสร้างโดยสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร เนื่องจากชาวโซเชียลมีเดียปากไวที่แสดงความเห็นในเชิงตำหนิว่า ทำไมไม่ทำหลังคาบริเวณบันไดเลื่อนขึ้นลงอุโมงค์ ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจะออกมาอธิบายจนกระจ่างแจ้งกันไป

“อุโมงค์มหาราช” อุโมงค์ทางเดินลอดถนนมหาราชกับถนนหน้าพระลาน
อุโมงค์ทางเดินลอดใต้ถนนมีชื่อว่า “อุโมงค์มหาราช” ถือเป็นไฮไลท์ของท่าช้างโฉมใหม่ ที่สะท้อนการพัฒนาพื้นที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ร่วมกับความทันสมัยได้เป็นอย่างดี อุโมงค์ระยะทาง 90 เมตร ความลึก 4.7 เมตร ออกแบบด้วยทางลงบันไดเลื่อนแบบไม่มีหลังคา เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพความงามของพระบรมมหาราชวังและพื้นที่โดนรอบ

บันไดเลื่อนกลางแจ้งลักษณะนี้สามารถทนแดดทนฝน มีระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม หรือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยก็มีใช้รูปแบบเดียวกันนี้ที่ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสนามไชย

อุโมงค์เปิดบริการทุกวัน 8.00-18.00 น.
อุโมงค์มหาราช ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการสัญจร ข้ามจากท่าช้างไปบริเวณถนนหน้าพระลาน ข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังเท่านั้น ภายในอุโมงค์ด้านล่างยังเพิ่มมิติของการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่เสมือน “มินิมิวเซียม” มีการจัดแสดงภาพถ่ายหาชมยากในอดีตของย่านท่าช้างวังหลวง และกรุงเทพยุคก่อน มีซากกำแพงโบราณ รวมถึงนิทรรศการให้ความรู้ประวัติศาสตร์ว่าด้วยป้อมอินทรรังสรรค์และกำแพงเมือง (ทั้งนี้อุโมงค์มหาราช เปิดให้บริการสัญจรตั้งแต่ 8.00-18.00 น.ทุกวัน)

นิทรรศการภาพถ่ายในอดีต บริเวณทางเดินอุโมงค์มหาราช

ซากกำแพงเมืองเก่าในอุโมงค์
โอกาสหน้าอย่าลืม เช็คอิน “ท่าช้าง”

ความกลมกลืนของท่าเรือใหม่กับอาคารเก่า
ในวันนี้ ( 5 มีนาคม 2565) โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าช้างวังหลวง ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ เหลือเพียงการเก็บงานระบบอีกเล็กน้อย และรอเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ก็เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปตามปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือโดยสาร อุโมงค์ทางเดินลอดใต้ถนน พื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงร้านรวงร้านค้าเก่าภายในตึกแถวสุดคลาสสิคที่เริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการค้าขายอีกครั้ง หลังจากประสบกับวิกฤตโควิดมาร่วมเกือบสองปี

ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเปิดประเทศและการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ “ท่าช้าง” จะเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินน่าเที่ยวของกรุงเทพมหานครได้ไม่ยาก

ท่าเรือปรับปรุงใหม่โดยกรมเจ้าท่า

ที่นั่งคอนกรีตถาวรบริเวณลานท่าช้าง

บรรยากาศพระอาทิตย์ตกบริเวณท่าช้าง




กำลังโหลดความคิดเห็น