xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นชีวิต “คลองแม่ข่า”จากคลองน้ำเน่าสู่ “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” เป็นชัยมงคลคู่เชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มช.เดินหน้าฟื้นชีวิต “คลองแม่ข่า”จากคลองน้ำเน่าสู่ “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”
มช. จับมือภาครัฐ เดินหน้าฟื้นฟูคลองแม่ข่า หนึ่งในชัยมงคลเจ็ดประการของเมืองเชียงใหม่ จากคลองน้ำเน่าเหม็นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นดัง “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จับมือภาครัฐ เร่งเดินหน้าฟื้นฟูคลองแม่ข่า คลองดั้งเดิมและเป็นคลองหลักของตัวเมืองเชียงใหม่ ตามแผนแม่บทการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายประชาชน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ คือ ปริมาณน้ำดีที่ไหลในคลองมากกว่า 1 ลบ.ม./วินาที มีคุณภาพน้ำดี Water Quality Index (WQI) มากกว่า 30 สภาพแวดล้อมสองฝั่งคลองได้รับการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม และประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนา ให้ฟื้นคืนเป็นสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตล้านนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ภายใต้ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข”

มช.เดินหน้าฟื้นชีวิต “คลองแม่ข่า”จากคลองน้ำเน่าสู่ “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”
รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ประธานคณะทำงานศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ เปิดเผยว่า “คลองแม่ข่า” ในอดีตเป็นคลองที่ใช้ในการเกษตร การระบายน้ำ และสันทนาการ มีต้นกำเนิดมาจากแถบอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย ไหลผ่านเมืองมาตอนบนแล้วลงมาตอนล่าง รวมระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดีในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คลองแม่ข่ามีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากมีการบุกรุก ครอบครองพื้นที่ข้างคลอง ประกอบกับมีการปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทำให้คลองแม่ข่าเปรียบเสมือนคลองที่เกือบตายแล้ว คือ น้ำสกปรก ดำ และคุณภาพน้ำต่ำที่สุด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 ทางจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน ได้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดพัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่า ตามแผนแม่บทคลองแม่ข่าฉบับที่1-2 และแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick win) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคลองแม่ข่าแบบมุ่งเป้าไปสู่ความสำเร็จโดยเร็ว

มช.เดินหน้าฟื้นชีวิต “คลองแม่ข่า”จากคลองน้ำเน่าสู่ “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”
สำหรับแผนพัฒนาคลองแม่ข่า มี 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่

1.การบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้ไหลสู่คลองอย่างเพียงพอในทุกช่วงฤดูกาล เพื่อให้น้ำที่คุณภาพดีไหลในคลองตลอดเวลา เป็นการรักษานิเวศน์ทางน้ำ

2.การดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองให้สวยงามโดดเด่นโดยเฉพาะในเขตเมือง จัดหาจุดสำคัญที่ให้เป็น Land Mark ของแต่ละพื้นที่

3.ทำการสำรวจและออกแบบรายละเอียดระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง

4.การจัดหาพื้นที่และที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่อาศัยหรือบุกรุกพื้นที่ในเขตคลองที่จะถูกโยกย้ายออกไป โดยผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างการมีจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลองแม่ข่าของประชาชน เยาวชน ชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

มช.เดินหน้าฟื้นชีวิต “คลองแม่ข่า”จากคลองน้ำเน่าสู่ “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม”
ทั้งนี้หลังมีการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันน้ำในลำคลองมีความใสสะอาดมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่การลุกล้ำคลองได้รับการแก้ไขเกือบหมด ชุมชนมีความสะอาดตา น่าอยู่ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีภูมิทัศน์ริมคลองที่สวยงาม สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้อย่างดี ซึ่งในอนาคตหากคลองแม่ข่าพลิกฟื้นอย่างเบ็ดเสร็จแล้วก็สามารถพร้อมรับแขกบ้านแขกเมืองได้

นอกจากนี้ด้วยพลังจากทุกส่วนงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนริมคลองแม่ข่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาทางด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น