กรมศิลปากร จัดกิจกรรม สักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน “นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล 2565” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2564 – 9 มกราคม 2565
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาโบราณ 10 องค์ ที่เก็บสงวนรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน และคัดสรรพระพุทธรูป มงคลโบราณ 9 องค์ ซึ่งมีตำนานการสร้างและนาม อันเป็นสิริมงคล มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาเนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2565
การสร้างพระปฏิมาแต่โบราณ เป็นไปตามการคัดสรรเรื่องราวในพระพุทธประวัติ จากพระไตรปิฎกคัมภีร์ทางศาสนา ตำนาน และเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ที่มีมาแต่อดีต เพื่อแสดงปฏิปทาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อบูชา อันจะเป็นการอำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ในวาระ แห่งการเริ่มต้นสู่ศักราชใหม่
โดยพระพุทธรูป 10 องค์ มีทั้งศิลปะอินเดีย ศิลปะลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ โดยมี “พระพุทธสิหิงค์” เป็นประธาน โดยพระพุทธรูปองค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัย-ล้านนา อายุสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีประวัติความเป็นมาว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์
และมีพระพุทธรูปโบราณอีก 9 องค์ ประกอบด้วย
1. พระพุทธรูปประทานพร ศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ พุทธศตวรรษที่ 14 เป็นพระพุทธรูปทรงยืนตรง พระหัตถ์ขวาอยู่ในกริยาประทานพร โดยการแบฝ่าพระหัตถ์ขวาห้อยออกไปข้างหน้า ปางประทานพร หรือที่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วรทมุทรา” ในศิลปะอินเดียไม่ได้เจาะจงใช้สำหรับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่อมาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละ จึงเริ่มใช้เฉพาะกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยจะต้องสลักรูปพระอินทร์ และพระพรหมประกอบเป็นบริวารทั้ง 2 ข้างพระองค์
2. พระไภษัชยคุรุ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18 ในลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์ ประทับขัดสมาธิราบบนขนดนาคซ้อน 3 ชั้น เศียรนาคทั้ง 7 แผ่พังพานปกอยู่เบื้องหลังพระเศียร พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) มีหม้อน้ำอมฤต หรือตลับยาวางอยู่ในพระหัตถ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าแพทย์ เชื่อกันว่าผู้บูชาพระไภษัชยคุรุ อาจหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม
3. พระอมิตายุส ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธเจ้าผู้มีอายุยืนนานไม่สิ้นสุด ภาคหนึ่งของพระธยานิพุทธอมิตาภะ ทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ อุณหิศ (กระบังหน้า) ประดับแผ่นกระจังขนาดใหญ่ อุณหิศมีแถบผ้าสี่ชาย ทรงกุณฑลรูปกลมขนาดใหญ่ทรงกรองศอ สังวาล พาหุรัด ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานที่ประทับกลีบบัวคว่ำบัวหงาย แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) ในพระหัตถ์มีหม้อยา หรือหม้ออาหารทิพย์
4. พระพุทธรูปฉันสมอ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 พระฉันสมอประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรแบบพุทธศิลป์จีน คล้ายคลึงกับพระฉันสมอที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก กล่าวถึงผลสมอและมะขามป้อมที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องยาสำหรับพระภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
5. พระหายโศก ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่บริเวณฐานด้านหลังมีจารึกอักษรภาษาไทย ความว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน 1+11 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังอัฐศก ศักราช 1218” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
6. พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย) ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นพระพุทธรูปปฏิมาทรงยกพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย ตามคติเดิมของการสร้างพระแต่เดิมของอินเดีย พระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในท่านี้เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อภยมุทรา” ภาษาไทยนำมาใช้ว่า “ปางประทานอภัย” เพื่อสื่อความหมายถึง “ความไม่มีภัยทั้งปวง” หรือ “ไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ” อันมีความหมายถึงการปกป้องอันตราย
7. พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอพระอุระและหันฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกด้านนอก แสดงปางห้ามสมุทร พุทธประวัติตอนแสดงอิทธิฤทธิ์ห้ามมิให้แม่น้ำเนรัญชราท่วมหลากมาถึงบริเวณที่พระองค์ประทับได้ เป็นเหตุให้อุรุเวลกัสสปหัวหน้าเหล่าชฎิลทั้ง 500 ยอมฟังพระธรรมเทศนาจนสิ้นทิฐิมานะ เลิกวิถีปฏิบัติเดิม และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
8. พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 – 23 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลีประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 ที่องค์พระโดยรอบ อาทิ บนผ้าสังฆาฏิด้านหลัง จารึกอักขระ 5 ตัว คือ นะ โม พุท ธา ยะ คาถาย่อนามพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่ทรงอุบัติในภัททกัปปัจจุบันนี้ ได้แก่ พรกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่เรียกว่าพระชัย เพราะมีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ
9. พระชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 ตามพระราชประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างพระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลสำหรับบูชาในหอพระ รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ ทั้งนี้พระชัยมีลักษณะพิเศษคือจะต้องประทับขัดสมาธิเพชร คือ นั่งไขว้พระชงฆ์ หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายจะอยู่ในท่ากำด้ามพัดที่พระเพลา มีตาลปัตรหรือพัดยศบังพระพักตร์
สำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล 2565 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 9 มกราคม 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline