มีคำถามว่า วัดใดเก่าที่สุดในกรุงเทพฯ คำตอบดูจะหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะวัดที่สร้างมานานเหล่านั้นส่วนใหญ่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และไม่แน่ชัดว่าสร้างในรัชกาลใด อย่างวัดอรุณราชวราราม เรียกกันในสมัยกรุงธนบุรีว่าวัดแจ้ง ก่อนหน้านั้นมีชื่อว่า วัดสลัก สร้างมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐาน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ชื่อเดิมว่าวัดโพธาราม สันนิษฐานว่าสร้างหลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมัยพระเพทราชา และบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ เชิงสะพานพุทธ ก็รู้กันว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือวัดบางยี่ขัน ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ วัดเก่าแก่อีกแห่งของกรุงเทพฯ ว่าสร้างในสมัยกรุศรีอยุธยาตอนกลาง
แต่มีวัดหนึ่งว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เดิมมีชื่อว่า วัดสมอราย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า คำว่า สมอ นี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ถมอ ซึ่งเป็นภาษาเขมรแปลว่า หิน ดังนั้น สมอราย จึงมีความหมายว่าหินเรียงราย
ประวัติของวัดราชาธิวาสกล่าวว่า
“วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ พัฒนาโดยพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยลำดับ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร และเป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุต สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๒๐ และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ (กองพุทธสถาน)”
พ.ศ.๑๘๒๐ นั้นอยู่ในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กษัตริย์พระองค์แรกของกรุงสุโขทัย
วัดราชาธิวาสได้รับการปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เรื่อยมา จนกระทั่งในครั้งที่พระวชิรญาณภิกขุได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ก่อนย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ และขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงให้รื้อพระอุโบสถเพราะชำรุดทรุดโทรมมาก และโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผู้ได้รับถวายพระสมัญญาว่า “สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ทรงออกแบบ
โบสถ์ใหม่ของวัดราชาธิวาสนับว่าแตกต่างไปจากวัดอื่นๆ และยังแหวกไปจากจารีตเดิม โดยทรงนำศิลปะไทยผสมผสานกับศิลปะขอมและศิลปะตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน มีความวิจิตรตระการทั้งภายนอกและภายใน
พระอุโบสถแบ่งเป็น ๓ ตอน ตอนหน้าเป็นระเบียง ตอนกลางเป็นห้องพิธีซึ่งมีความวิจิตรงดงามเป็นพิเศษ ส่วนด้านหลังกั้นเป็นอีกห้องหนึ่ง ประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ดั้งเดิมของวัดสมอราย หันพระพักตร์ไปทิศตะวันออกตามธรรมเนียมของพระประธานของพระอุโบสถทั่วไป แต่เพราะที่ตั้งของพระอุโบสถอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อหันหน้าเข้าหาแม่น้ำ จึงต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันตก การรักษาพระประธานเดิมไว้ นอกจากจะเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมเดิมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังทรงรับสั่งว่า “ถ้าย้ายไปก็เสมือนหนึ่งไล่เจ้าของเดิม” พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ในห้องด้านหลังนี้จึงหันพระพักตร์ไปทางหลังโบสถ์
ความวิจิตรตระการของห้องกลางนั้น เป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้จำลองมาจากพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีพระนามเดียวกัน มาเป็นพระประธานองค์ใหม่ ประดิษฐานอยู่ภายในกรอบซุ้มที่มีเสาแบบตะวันตก ประดับด้วยพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ ๕ พระองค์ คือ ตราช้างสามเศียรรองรับโอมของรัชกาลที่ ๑ ตราครุฑยุดนาคของรัชกาลที่ ๒ ตราปราสาทของรัชกาลที่ ๓ ตรามหาพิชัยมงกุฎของรัชกาลที่ ๔ และตราพระเกี้ยวของรัชกาลที่ ๕
ที่โดดเด่นอีกอย่างในห้องนี้ก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงร่างต้นแบบ และให้นายคาร์โล ริโกลิ จิตรกรชาวอิตาเลียนผู้วาดภาพบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นผู้ขยายแบบด้วยสีปูนเปียกตามสไตล์ตะวันตก จึงเป็นภาพที่มีมิติเป็นธรรมชาติ แต่รูปร่างหน้าตาของคนในภาพรวมทั้งพระเวสสันดรออกจะเป็นฝรั่งไปหน่อยๆ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานนามใหม่ให้วัดว่า “วัดราชาธิวาส” ซึ่งมีความหมายว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ได้มาจำพรรษาที่วัดนี้เมื่อทรงผนวช
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างของวัดราชาธิวาสก็คือ ศาลาการเปรียญ ซึ่งสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จุคนได้เป็นพันคน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงเลียนแบบมาจากศาลาการเปรียญของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ผู้เขียนในวัยเด็ก มีความใกล้ชิดกับวัดราชาธิวาสอย่างมาก เนื่องจากบ้านอยู่ในซอยนี้ และเรียนที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสตั้งแต่ ม.๑ ถึง ม.๖ นักเรียนโรงเรียนวัดราชาสมัยนั้น คนที่นับถือศาสนาพุทธจะต้องไปเข้าโบสถ์ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามะกะ ได้รับใบประกาศนียบัตรจากมือท่านเจ้าอาวาส และทุกวันเสาร์ที่เรียนเพียงครึ่งวัน จะต้องไปเข้าห้องประชุมสวดมงคลคาถาพร้อมคำแปลก่อนปล่อยกลับบ้าน ตอนนี้ใบประกาศนียบัตรเป็นพุทธมามะกะหายไปไหนนานแล้ว แต่มงคลคาถาทั้ง ๓๘ ประการยังอยู่ครบในใจ