xs
xsm
sm
md
lg

“กิมจิ” กับกระแสดราม่าชื่อเรียกในภาษาจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่รู้จักกันดีว่า “กิมจิ” นั้นเป็นเครื่องเคียงที่สำคัญของอาหารเกาหลี หรือจะนับว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเกาหลีเลยก็ว่าได้

ล่าสุดนี้ “กิมจิ” ได้กลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและเกาหลีใต้อีกครั้ง โดยสำนักข่าว CNN ได้รายงานข้อมูลว่า การต่อสู้กันด้านอาหารครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ออกประกาศแก้ไขอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศที่เหมาะสมสำหรับอาหารเกาหลีบางประเภท

ซึ่งในประกาศนี้มีข้อกำหนดว่าจะใช้คำว่า “Xinqi” เป็นชื่อภาษาจีนอย่างเป็นทางการสำหรับกิมจิ โดยยกเลิก “Pao Cai” (ผักดองเค็ม) ซึ่งเป็นชื่อเรียกเก่าในภาษาจีนของกิมจิ

ปัญหานี้มาจากการที่ไม่มีตัวอักษรจีนที่ใช้ในการออกเสียงคำว่ากิมจิ จึงได้มีการพิจารณาตัวอักษรจีนประมาณ 4,000 ตัว ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกคำว่า Xinqi ที่อ้างว่าออกเสียงคล้ายกับคำว่ากิมจิ ซึ่ง Xinqi ประกอบด้วยอักษรจีน 2 ตัว คือ Xin หมายถึงเผ็ด และ Qi หมายถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรืออยากรู้อยากเห็น


สำหรับชื่อเรียกใหม่นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้หวังให้เป็นการแบ่งกันอย่างชัดเจนระหว่างกิมจิของเกาหลี และผักดองของจีน (ที่ในภาษาจีนเรียกว่า pao cai) โดยประกาศฉบับนี้จะใช้สำหรับคำเรียกกิมจิในภาษาจีนของหน่วยงานของรัฐ ส่วนองค์กรเอกชนจะเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น (ไม่ได้บังคับใช้) ซึ่งประกาศฉบับนี้ได้จุดกระแสการโต้เถียงกันอย่างดุเดือดทั้งในกลุ่มสื่อและชาวเน็ตทั้งสองประเทศ

แล้ว “กิมจิ” กับ “pao cai” มีความแตกต่างกันอย่างไร

“กิมจิ” เป็นคำเรียกรวมของผักหมักดองกว่า 100 ชนิดของเกาหลี โดยทั่วไปจะหมายถึงผักกาดขาวหมักกับเครื่องปรุง เช่น พริก กระเทียม ขิง และอาหารทะเลรสเค็ม ส่วนผักที่หมักจากส่วนผสมอื่นๆ เช่น กิมจิหัวไชเท้า หรือ กิมจิผักกาดขาวแบบไม่เผ็ด ก็ล้วนแต่เรียกว่าเป็นกิมจิเช่นกัน

ส่วน “pao cai” ในภาษาจีนหมายถึงผักแช่ เนื่องจากผักดองนั้นมักจะทำโดยการแช่ผักต่างๆ ตั้งแต่กะหล่ำปลีไปจนถึงแครอท ลงในน้ำเกลือ อาจจะมีหรือไม่มีเครื่องปรุงรสอื่นก็ได้ จากนั้นนำผักมาหมักในอุณหภูมิห้อง

ซึ่งกรรมวิธีที่มีความคล้ายคลึงกันนั้น ในประเทศจีนจึงมักเรียกกิมจิว่า “Hanguo Pao Cai” ซึ่งแปลว่าผักหมักของเกาหลี


เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกในการพยายามตั้งชื่อกิมจิในภาษาจีน เมื่อปี 2013 เคยมีการตั้งชื่อกิมจิขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กิมจิที่ผลิตในจีนและตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงตลาดภายในประเทศเกาหลีใต้เองด้วย

ตั้งแต่ปี 2006 เกาหลีใต้ประสบปัญหาขาดดุลการค้ากิมจิกับจีน โดยตั้งแต่ปี 2007-2011 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กิมจิจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสิบเท่า แต่หลังจากมีการประกาศชื่อใหม่ของกิมจิในภาษาจีนเมื่อปี 2013 ก็เกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว ชื่อของ Xinqi ไม่เป็นที่นิยมในประเทศจีน จนมีการเรียกชื่อในแบบเดิมว่า pao cai หลังจากนั้นไม่นาน

แต่ในปีเดียวกันนั้น เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการได้รับการประกาศให้ “กิมจัง” ซึ่งเป็นประเพณีการทำและแบ่งปันกิมจิ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก จนทำให้กิมจิกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจของเกาหลี

ดราม่าชื่อเรียกกิมจินี้เกิดขึ้นอีกครั้ง จากความขัดแย้งทางวัฒนธรรมหลายครั้งในปีที่แล้ว เดือนพฤศจิกายน 2020 มีบทความในสื่อของจีนว่า Sichuan pao cai เป็นมาตรฐานสำหรับสากล และ pao cai นั้นมีมานานแล้วในจีน บทความดังกล่าวชาวเน็ตและสื่อของเกาหลีใต้แสดงความเห็นว่าเป็นความพยายามขโมยวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งจุดกระแสต่อต้านจีนอย่างรุนแรง และยังมีการแชร์ภาพคนที่ดูเหมือนเปลือยกายแช่อยู่ในสระกะหล่ำปลีที่มีของเหลวสีน้ำตาล โดยใช้ชื่อภาพว่าเป็นโรงงานกิมจิที่น่ารังเกียจของจีน นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับกิมจิ และเน้นว่ากิมจิกับ pao cai มีความแตกต่างกันอย่างไร


สถานการณ์ความขัดแย้งด้านวัฒนธรรมนี้ก้าวออกมาจากวงการอาหารสู่การท่องเที่ยว แผนการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวไชน่าทาวน์ ในจังหวัดคังวอนของเกาหลีใต้ ถูกยกเลิกไปจากคำเรียกร้องของชาวเน็ตจำนวนมาก และยังมีการยกเลิกการออกอากาศซีรีส์เกาหลี Joseon Exorcist หลังจากผ่านไปเพียงสองตอน โดยมีการประท้วงต่อต้านฉากที่พระเอกสวมชุดสไตล์จีน ดื่มสุรา และกินอาหารจีน

แม้แต่สมาชิกของ BTS วงเคป็อบชื่อดังระดับโลก ที่ปรากฎตัวในรายการ มีการแปลซับไตเติ้ลคำว่ากิมจิเป็น “pao cai” ซึ่งชาวเน็ตจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ โดยอ้างว่าเป็นการแปลที่ช่วยส่งเสริมภาษาจีนคำนี้ และภายหลังต้องมีการเปลี่ยนแปลงคำแปลมาเป็น Xinqi

สำหรับการประกาศเปลี่ยนคำภาษาจีนของกิมจิในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ อยู่บ้าง เช่น บางบริษัทได้เปลี่ยนคำแปลเป็น Xinqi แล้ว เช่น เครื่องมือแปลภาษาของ Naver (เสิร์ชเอนจิ้นของเกาหลีใต้) ส่วนอาหารเกาหลีใต้แบรนด์ Bibigo ก็เปลี่ยนคำแปลแล้วเช่นกัน


ส่วนใน Weibo โซเชียลมีเดียของจีน มีการแสดงความคิดเห็นหลายทาง บางคนปฏิเสธที่จะใช้คำนี้ เนื่องจากคิดว่ากิมจิก็ได้อิทธิพลจากผักดองของจีน บางคนเข้าใจความแตกต่างระหว่างกิมจิของเกาหลี กับผักดองของจีนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การใช้คำว่า Xinqi แทนกิมจิในประเทศจีน อาจจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายของจีนระบุให้บริษัทต่างๆ ต้องใช้ชื่อที่ผู้บริโภคชาวจีนคุ้นเคย นั่นหมายถึงธุรกิจต่างๆ อาจจะต้องใช้คำว่า Xinqi ควบคู่ไปกับ pao cai

และจากบทความในสื่อเกาหลีใต้ ยังมีการให้ความเห็นว่า เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเกาหลีที่คิดคำศัพท์คำว่า Xinqi ที่จะบดบังความหมายของคำว่า กิมจิ ซึ่งเป็นชื่อที่น่าภาคภูมิใจและเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น