xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยการเดินทางของ "พระแก้วมรกต" ในดินแดนภาคเหนือของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต
"พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "พระแก้วมรกต" ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาช้านาน ดังมีใจความในเรื่อง "ตำนานพระแก้วมรกต" ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พิมพ์ในหนังสือ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร (พ.ศ.2504) กล่าวถึงพระราชพิธีตอนสถาปนาพระนครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความว่า...

"...ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้..."

พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในกรุงเทพฯ
ข้อความข้างต้นจึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับพระแก้วมรกตในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของสยามประเทศแห่งใหม่ต่อจากกรุงธนบุรี

ดังที่เราทราบแล้วว่าก่อนหน้าที่พระแก้วมรกตจะมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ ดังเช่นปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันท์เป็นเวลายาวนานถึง 226 ปี

แต่หากย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก จะพบว่าองค์พระแก้วมรกตได้ไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ในแถบภาคเหนือของไทยเรามาก่อน ซึ่งหากย้อนไปเมื่อหลายร้อยปีนั้น ความเป็นประเทศยังไม่เกิดขึ้น หากแต่แบ่งเป็นแว่นแคว้นเขตแดนของอาณาจักรต่างๆ ดังที่เราจะขอพาไปตามรอยเส้นทางประดิษฐานของพระแก้วมรกตกันในวันนี้

วัดพระแก้วแห่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
วัดพระแก้ว กำแพงเพชร

ตามตำนานที่เล่าขานกันเกี่ยวกับพระแก้วมรกตมีอยู่ว่า ผู้สร้างพระแก้วคือพระนาคเสนเถระ พระอรหันต์เจ้าแห่งประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.500 ท่านต้องการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป จึงดำริที่สร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมณี เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเจ็ดพระองค์เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต องค์พระแก้วเดิมประดิษฐานที่นครปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย ต่อมาเกิดสงครามขึ้นประชาชนจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังลังกาทวีป และอยู่ที่เกาะลังกามาเป็นเวลานานถึง 200 ปี

จากนั้นในปี พ.ศ.1000 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งเมืองศรีเกษตรพุกามประเทศ ซึ่งมีพระเดชานุภาพมาก ได้ส่งพระเถระไปขอพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตจากลังกา โดยให้บรรทุกเรือสำเภามา แต่ระหว่างทางเกิดพายุรุนแรงจนเรือสำเภาที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตถูกพัดพาไปขึ้นที่กัมพูชา ภายหลังพระเจ้าอนุรุทธมหาราชได้ส่งคนไปขอพระแก้วมรกตคืน แต่พระนารายณ์วงศ์แห่งกรุงกัมพูชาให้คืนมาแต่พระไตรปิฎก แต่ไม่คืนพระแก้วมรกตมาด้วย

หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์ แคว้นกัมพูชาระยะหนึ่ง ก็เกิดอุทกภัยเนื่องจากพายุฝนขนาดใหญ่ตกเป็นเวลานาน พระมหาเถระ (ไม่ปรากฏพระนาม) ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอาทิตยราชแห่งนครอโยธยา (หมายถึงอโยธยาโบราณ) ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตราไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในนครอโยธยาอีกหลายรัชสมัย

ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น จึงทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย เชื่อกันว่า พระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ที่ "วัดพระแก้ว" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

วัดพระแก้วแห่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ เอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตว่าเคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้

หอพระแก้ว ณ วัดพระแก้วเมืองเชียงราย

พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์ หรือพระหยกเชียงราย
วัดพระแก้ว เชียงราย

ตำนานในช่วงต้นที่กล่าวมานี้ นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเป็นการแต่งเติมเสริมขึ้นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่องค์พระแก้วมรกต ส่วนหลักฐานที่ปรากฏชัดจริงๆ เริ่มต้นขึ้นที่อาณาจักรเชียงแสน หรือเมืองเชียงรายในปัจจุบันนั่นเอง โดยหลังจากที่พระเจ้าพรหมทัศน์ หรือท้าวมหาพรหม พระอนุชาของพระญากือนากษัตริย์เชียงใหม่ ทรงทราบว่าเมืองกำแพงเพชรมีพระแก้วมรกต พระเจ้าพรหมทัศน์มีพระราชประสงค์ใคร่จะได้ ไปเป็นศรีนครแก่นครเชียงแสนจึงทูลขอต่อพระเจ้ากำแพงเพชร ด้วยสันถวไมตรีพระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายให้นครเชียงแสน ต่อมานครเชียงแสนเกิดมีศึกกับนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงแสนจึงได้ทำการพอกปูนองค์พระแก้วจนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปสามัญทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะในเมืองเชียงแสน ต่อมาเมืองเชียงแสนถูกตีแตกและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในที่สุด

วัดป่าญะ ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "วัดพระแก้ว" ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นวัดเก่าแก่ที่เดิมเรียกว่า “วัดป่าญะ” หรือ “วัดป่าเยียะ” เนื่องจากมีไม้เยียะ (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายไผ่สีสุก) ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดพระแก้วหลังจากมีการค้นพบองค์พระแก้วมรกตด้วยความบังเอิญใน พ.ศ.1977 โดยในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายใน ต่อมารักกะเทาะออก พบว่าเป็น “พระแก้วมรกต” จึงเรียกวัดนี้ใหม่ว่า “วัดพระแก้ว” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้วัดพระแก้วเมืองเชียงรายเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตองค์ใหม่ นามว่า “พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์” หรือ “พระหยกเชียงราย” ที่ชาวเชียงรายได้ร่วมกันสร้างขึ้นในพ.ศ.2533 เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 ซ.ม. สูง 65.9 ซ.ม.(มีขนาดเล็กกว่าพระแก้วมรกตเพียง 1 ซ.ม. รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 และจังหวัดเชียงรายได้ประกอบพิธีแห่เข้าเมืองเชียงรายในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง

องค์พระธาตุแห่งวัดพระแก้วดอนเต้าฯ
วัดพระแก้วดอนเต้า ลำปาง

เมื่อได้พบพระแก้วมรกตที่เชียงรายด้วยความบังเอิญโดยอสุนีบาต ข่าวนั้นทราบไปถึงกษัตริย์เชียงใหม่ โอรสของแสนเมืองมาชื่อพระญาสามฝั่งแกนได้สั่งให้อำมาตย์อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นบนหลังช้างมาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงใหม่ แต่ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมากลับมุ่งหน้ามายังเมืองลำปางหรือเขลางค์นคร ไม่ว่าจะพยายามบังคับหรือแม้แต่ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาฟ้าดินแล้วก็ตาม สุดท้ายต้องยอมตามใจช้างให้เดินทางมาถึงเมืองลำปาง และได้นำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979-พ.ศ.2011 เป็นเวลาถึง 32 ปี

สำหรับปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้าแห่งนี้คือองค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และภายในวัดยังมีวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุกว่าพันปีซึ่งเก่าแก่พอๆ กับวัด อีกทั้งวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามยังมีตำนานน่าสนใจเล่าว่า นางสุชาดาได้พบแก้วมรกตในผลแตงโม (หมากเต้า) และนำแก้วมรกตนั้นมาถวายพระเถระ พระเถระรูปนั้นจึงให้ช่างนำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ "พระแก้วดอนเต้า" ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกต
วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่

การเดินทางของพระแก้วมรกตยังไม่สิ้นสุด โดยต่อมา พ.ศ.2011 ในสมัยของพระเจ้าติโลกราชได้ครองเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้พระองค์จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมายังเชียงใหม่ได้สำเร็จ และได้นำองค์พระแก้วไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำซึ่งอยู่ในผนังด้านหลังของพระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง จนถึงปี พ.ศ.2096 รวมระยะเวลาถึง 85 ปี ด้วยกัน

สำหรับวัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่ภายหลังใน พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จึงทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง แต่เพียงฐานเจดีย์ที่หลงเหลือก็สัมผัสได้ว่ามีขนาดใหญ่มาก อีกทั้งยังมีความงดงามยิ่ง หน้าประตูทางเข้าวิหารมีบันไดนาคเลื้อยเป็นรูปมกรคลายนาค ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร และในบริเวณวัดยังมีเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช ในปี พ.ศ.1839 และในทุกๆ ปีแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) ประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีประเพณี “เข้าอินทขิล” เป็นการฉลองหลักเมือง

องค์เจดีย์ขนาดใหญ่แห่งวัดเจดีย์หลวง
จากนั้นก็อย่างที่ทราบกันว่า เมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งมีเชื้อสายเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และเป็นพระราชนัดดา (หลานยาย) ของมหาเทวีจิรประภาแห่งอาณาจักรล้านนา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้มาครองเมืองเชียงใหม่ในราวปี พ.ศ.2096 เมื่อแผ่นดินล้านนาว่างจากกษัตริย์ แต่หลังจากนั้นพระองค์ต้องกลับไปปกครองเมืองหลวงพระบาง จึงได้นำพระแก้วมรกตไปยังหลวงพระบาง จนเวลาล่วงเลยมา 12 ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่าตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจะสู้ศึกมอญไม่ได้ จึงย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พร้อมกันนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย โดยประดิษฐานที่หอพระแก้ว (ตรงข้ามวัดสระเกศ) เมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2096-2322 รวมเวลายาวนานถึง 226 ปี

ก่อนที่ในท้ายที่สุด องค์พระแก้วมรกตจะกลับคืนสู่สยามประเทศอีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในขณะนั้น ได้เป็นจอมพลขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทำการสมโภชแล้วประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณฯ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.2322-2327 เป็นเวลา 5 ปี

ภายหลังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ครั้นพอพระอุโบสถสร้างเสร็จ จึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ 2327 รวมเวลาถึงปัจจุบัน 237 ปีด้วยกัน

และนี่ก็คือตำนานการเดินทางขององค์พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย ที่ในระหว่างทางก็ได้บรรจุเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน

#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น