วัดแปลกที่พระอุโบสถไม่มีพระประธานเหมือนวัดอื่นๆนี้ ก็คือ “วัดยุคันธราวาส” เดิมชื่อวัด “ยุคลธร” สังกัดธรรมยุติกนิกาย อยู่ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
ยุคันธร หรือ ยุคลธร เป็นชื่อทิวเขาหนึ่งในเทือกเขา ๗ ทิวที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เสมือนเป็นกำแพงล้อมรอบ
ในหนังสือ “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา” ของวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กล่าวตอนหนึ่งไว้ว่า
“วัดยุคันธราวาส จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๑๐ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุตที่ต้องอยู่ “ปริวาส” คือ การ “อยู่กรรม” หรือชดใช้กรรมของพระสงฆ์ที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ จะต้องชดใช้ด้วยการลงโทษตนเองให้ครบเท่ากับจำนวนวันที่ปิดอาบัติ ทำให้ตนบริสุทธิ์อยู่กรรมจึงพ้นได้ตามบัญญัติในพระวินัย
โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะเป็นพระสาสนโสภณ นําสัมภาระที่เหลือจากการก่อสร้างวัดราชประดิษฐมาสร้างเป็นวัดยุคันธราวาสขึ้นอีกวัด ความพิเศษของวัดนี้อยู่ตรงที่ภายในพระอุโบสถไม่มีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน แต่ใช้พระเจดีย์ทรงลังกาหล่อจากทองเหลืองซึ่งแต่เดิมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็น ‘ธาตุเจดีย์’ ตั้งไว้แทนพระประธาน”
ด้วยเหตุนี้วัดยุคันธราวาสจึงไม่มีพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ มีแต่พระเจดีย์ทองเหลืองบรรจุพระบรมสารีริธาตุตั้งไว้แทน ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ชดใช้กรรมของพระสงฆ์ที่ต้องอาบัติหรือเปล่าไม่ทราบ
แต่วันนี้ วัดยุคันธราวาสก็มีพระประธานเหมือนวัดอื่นๆแล้ว เพราะเพิ่งนำมาประดิษฐานในภายหลัง
ส่วนอีกวัดก็มีของแปลกเหมือนกัน และแปลกอย่างตรงข้ามกับวัดยุคันธราวาส วัดนี้ก็คือวัดอัปสรสวรรค์ อยู่ที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ
กรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี เดิมเป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้น เรียกกันว่า “วัดหมู” โดยจีนอู๋เป็นผู้สร้างขึ้นในที่เลี้ยงหมูมาก่อน แม้ตอนที่สร้างวัดใหม่ๆก็ยังมีหมูมาเดินอยู่เพ่นพ่าน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพระราชนิยมในการสร้างวัด เจ้าจอมน้อย เจ้าของฉายา “สุหรานากง” ผู้มีบทบาทเด่นในละครเรื่อง “อิเหนา” เห็นว่าวัดหมูทรุดโทรมมาก จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดอัปสรสวรรค์” พร้อมพระราชทานพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งเคยเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ได้มาจากเวียงจันทน์ อัญเชิญมาเมื่อคราวปราบกบฏเจ้าอนุ และเคยประดิษฐานอยู่ที่หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
แต่พระพุทธรูปปางฉันสมอที่พระราชทานมานี้ ไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ กลับไปอยู่บนพระมณฑปในกำแพงแก้วระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ส่วนในพระอุโบสถกลับมีพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยขนาดเท่ากันประดิษฐานอยู่ถึง ๒๘ พระองค์ ตามตำนานที่ว่า นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในชาติภพต่างๆเพื่อตรัสรู้บนโลกใบนี้ถึง ๒๘ พระองค์ แต่ละพระองค์มีพระนามจารึกอยู่ที่ฐาน ได้แก่พระพุทธเจ้าองค์แรก คือ พระพุทธตัณหังกร จนถึงพระพุทธโคตรมะ พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน
ทั้งสองวัดจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากจะมีคนไปทำบุญฟังเทศน์เหมือนวัดทั่วไปแล้ว ยังมีคนไปดูความแปลกของวัดกันด้วย