xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจพิชิตห่า “อาพาธพินาศ 2363”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดชดนัย ศุภศิลปเลิศ


แร้งวัดสระเกศ ช่วงโรคอหิวาตกโรคระบาด พ.ศ.2434
เดชดนัย ศุภศิลปเลิศ
นักศึกษาปริญญาโท สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


ความนำ
โรคระบาดกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นของคู่กัน เมื่อเกิดโรคระบาดครั้งหนึ่งก็สร้างความเสียหายแก่ชีวิตผู้คนเป็นอย่างมาก มีผู้คนล้มตายเป็นหลักหมื่นขึ้นไปจนถึงหลักล้าน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ามนุษยชาติในอดีตยังไม่มีความรู้ด้านการแพทย์อย่างในปัจจุบัน ยังไม่มีความรู้เรื่องจุลชีพ แบคทีเรีย ไวรัส แบบในปัจจุบัน ความรู้เรื่องจุลชีพนั้นมนุษย์เพิ่งจะเข้าใจจริง ๆ ก็เมื่อราว 200 ปีที่แล้วนี่เอง จากงานของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ผู้คิดค้นการปลูกผีแก้ไข้ทรพิษ และงานของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้บุกเบิกจุลชีววิทยาสมัยใหม่ ที่เป็นรากฐานของการแพทย์แผนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ากว่ามนุษย์จะเข้าใจถึงกลไกการเกิดโรค และการป้องกันโรคจริง ๆ นั้น ก็เป็นระยะเวลาไม่นานนัก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะมีความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ มนุษย์ในอดีตก็มีภูมิปัญญาในการระงับโรคระบาด เช่น สมัยมีกาฬโรคครั้งใหญ่ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งสมัยนั้นกาฬโรคทำคนตายไปถึง 1 ใน 3 ของประชากรยุโรป และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเพราะโดยทั่วไปไม่มีมาตรการควบคุมการเดินทาง และความแออัดในชุมชนเมือง มีเมืองท่าแห่งหนึ่งของอิตาลีได้กำหนดมาตรการกักตัวลูกเรือที่จะเข้ามา เป็นเวลา 40 วัน (เป็นต้นกำเนิดของคำว่า Quarantine) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นกาฬโรค เรียกว่าเป็นต้นตำรับการกักตัวเลยก็ว่าได้ ผลของการนี้ทำให้เมืองต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มทำตาม จนสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้อันจำกัด ทำให้กาฬโรคยังคงกลับมาระบาดอยู่อีกหลายครั้งในยุโรป

ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏการบันทึกถึงโรคระบาดอยู่หลายครั้ง เช่น โรคห่าซึ่งทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงย้ายชุมชนมาตั้งที่หนองโสน โรคไข้ทรพิษในปี พ.ศ.2076 มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีการกล่าวถึงโรคระบาด และยังกล่าวถึงรายละเอียดของการระบาด ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาของคนในสมัยนั้นให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

“ห่า” ลง
สังคมสยามสมัยโบราณยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการควบคุมโรคระบาดเช่นเดียวกับสังคมอื่น ๆ ทั่วโลกในสมัยนั้น ตามความเชื่อของคนไทยโดยพื้นฐานแล้ว โรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์เกิดขึ้นจากอำนาจของผี การแก้โรคจึงต้องอาศัยอำนาจพุทธคุณเข้าช่วยนอกจากการใช้สมุนไพร หรือแม้แต่การปรุงยาสมุนไพรเองก็ต้องใช้คาถาอาคมเข้าช่วย ต้องปักเฉลวลงในหม้อยา มีลักษณะเป็นไม้สานกันเป็นแฉก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธคุณ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์แผนไทยไปด้วย

ส่วนผีที่ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นจนมีคนเจ็บป่วยล้มตายคราวละมาก ๆ เรียกว่า “ผีห่า” เวลาเกิดโรคระบาดขึ้นจึงเรียกว่า “ห่าลง” โรคระบาดที่เกิดขึ้นในสยามประเทศแต่โบราณ เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค และไข้ทรพิษ

แม้ชาวสยามในสมัยโบราณจะยังไม่รู้จักเรื่องเชื้อโรค แต่ชาวสยามก็มีภูมิปัญญาในการจัดการกับโรคระบาดตามองค์ความรู้ที่มีอยู่ โดยอาศัยทั้งอำนาจพุทธคุณ และภูมิปัญญา

อหิวาตกโรค พ.ศ.2363
ในเดือน 7 ปี พ.ศ.2363 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ โดยเริ่มจากหัวเมืองชายฝั่งทะเล เมืองสมุทรปราการ แล้วจึงเข้ามายังพระนคร โรคระบาดครั้งนั้น คือ “อหิวาตกโรค”

“อหิวาตกโรค” เป็นโรคระบาดชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vebrio Cholerae เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่ลำไส้เล็ก สร้างพิษออกมา ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงภายใน 1-2 วัน จนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ หากเสียน้ำอย่างรุนแรงก็ทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ผ่านอุจจาระของผู้ป่วย เมื่อถ่ายลงน้ำเชื้อก็แพร่สู่แหล่งน้ำ ถ้าถ่ายลงทุ่ง เชื้อก็อาจแพร่ต่อไปผ่านแมลงวัน ซึ่งก็จะบินไปเกาะอาหาร แพร่เชื้อต่อไปยังผู้บริโภค เหตุนี้เองทำให้อหิวาตกโรคสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ยิ่งพระนครเป็นเมืองน้ำ และอยู่ในช่วงพ้นหน้าแล้งไม่นาน การระบาดก็ยิ่งรุนแรง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 บรรยายบรรยากาศของพระนครยามนั้นว่า

“ณ วันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ไปถึงวันเพ็ญคนตายทั้งชายหญิง ศพที่ป่าช้าแลศาลาดินในวัดสะเกษ วัดบางลำพู [วัดสังเวชวิศยาราม] วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก แลที่ลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน น่าอเนจอนาถนัก ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้งกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้…”

บรรยากาศในพระนครยามนั้นเห็นจะหดหู่เต็มที เพราะมีคนล้มตายเสียมาก ศพผู้เสียชีวิตถูกขนออกจากเมืองไปทิ้ง หรือเผาที่วัดนอกพระนครตามจารีตประเพณี และยังมีศพที่ลอยในน้ำอีกเป็นที่น่าอุจาด และเป็นต้นตอการแพร่เชื้ออย่างดี แม้ชาวพระนครจะไม่กินน้ำจากแม่น้ำ แต่พาหะอย่างแมลงวันก็ยังทำงานส่งต่อเชื้อต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศขึ้น

พระราชพิธีอาพาธพินาศ
พระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นพระราชพิธีพิเศษที่จัดขึ้นน้อยครั้งในประวัติศาสตร์ คือ พ.ศ.2353 และ พ.ศ.2363 แต่เพียงเท่านั้น รายละเอียดขั้นตอนของพระราชพิธีอาพาธพินาศเมื่อปี พ.ศ.2363 นั้น มีปรากฏในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพิจารณาร่วมกับความในพระราชพงศาวดาร สามารถสรุปรายละเอียดดังนี้

การเบื้องต้น ทำอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษ) อันเป็นพระราชพิธีประจำท้ายปี เพื่อปัดเป่าเสนียดจัญไรไปจากบ้านเมือง กล่าวคือ ตั้งพระแท่นมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อัญเชิญพระบรมธาตุ และพระพุทธรูปสำคัญในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนพระแสงราชศาสตราวุธ ในการอาพาธพินาศนั้นเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระแท่นมณฑลด้วย ตั้งแท่นสำหรับพระสงฆ์สวดภาณวาร และตั้งกระโจมเทียนชัย ส่วนในพระนคร ให้ตั้งโรงพิธีที่ประตูเมืองทั้งแปดทิศ และกลางพระนคร มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เช่นกัน

พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และสวดอาฏานาฏิยสูตรตลอดคืนจนรุ่ง สลับกับการยิงปืนใหญ่บนกำแพงเมือง เมื่อพระสงฆ์สวดอาฏานา เจ้าพนักงานแจกกระบองเพชร และมงคลพิสมรให้เจ้านาย และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ถือและสวม เสมือนว่าอยู่ในมณฑลพิธี เป็นการป้องกันผีร้าย ปีศาจร้ายทั้งปวง อาฏานาฎิยสูตรนี้ มีประวัติกล่าวสืบต่อกันมาว่า เป็นมนต์ที่ท้าวมหาราชทั้งสี่ได้ถวายไว้แก่พระพุทธเจ้า บนเขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ เพื่อมิให้พวกยักษ์มารมิจฉาทิฐิมารบกวนทำร้าย ทุกวันนี้ยังมีผู้ทำพิธีสวดดังนี้อยู่ เรียกว่า สวดภาณยักษ์ มีจุดเด่นคือการสวดด้วยทำนองที่ดุดัน เป็นการใช้ความดุดันขับไล่ภูตผีมิจฉาทิฐิให้ออกไป

วันต่อมา เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จออกชาลาข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเพื่อสรงพระมุรธาภิเษก แล้วจัดกระบวนแห่อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระชัย และพระห้ามสมุทร แยกกันเดินตามถนนสายต่าง ๆ ในพระนคร ในกระบวนมีพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และทรายเสกตลอดรายทางกระบวน ในพระบรมมหาราชวังนั้น ให้นำกระดาษไทยเขียนยันต์ 350 แผ่นแปะไว้ตามพระที่นั่ง และพระตำหนักต่าง ๆ มีสายสิญจน์วงโดยรอบ

สถานการณ์ในเวลานั้นเห็นจะหนักหนาสาหัส และต้องกระทำพิธีอย่างทุลักทุเลพอสมควร เนื่องจากในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน เล่าความว่า บางคนที่เดินในกระบวนนั้นถึงกับล้มลงขาดใจตายในกระบวนทีเดียว บางคนกลับไปตายที่บ้านหลังจากนั้นก็มี พอทำให้เห็นภาพว่าโรคครั้งนั้นหนักหนาเพียงใด

นอกจากการจัดพระราชพิธีอาพาธพินาศอย่างพระราชพิธีตรุษแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังทรงถืออุโบสถศีล ความในพระราชพงศาวดารกล่าวต่อไปว่า

“. . .ทั้งพระราชวงษานุวงษ์ที่มีกรมแลหากรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายน่าฝ่ายในก็พระราชทานอนุญาตให้รักษาศีลทำบุญให้ทานตามใจสมัค มิต้องให้เข้าเฝ้าแลทำกิจราชการที่ไม่จำเปน แม้บรรดาไพร่ซึ่งอยู่เวรประจำซองรักษาพระราชวังชั้นในแลชั้นนอกนั้น ก็ได้รับพระราชทานอนุญาตปล่อยไปบ้านเรือนตามใจสมัค โดยทรงพระกรุณาตรัสว่า ประเพณีสัตวทั้งหลาย ไภยมาถึงก็ย่อมรักชีวิตร บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เปนที่รักเหมือนกันทั่วไป จะได้ไปรักษาพยาบาลกัน ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้ไปนั้น ก็พระราชทานเงินตราเปนบำเหน็จตามความชอบ แลโปรดให้จัดซื้อปลาแลสัตวสี่เท้าสองเท้า ที่มีผู้จะฆ่าซื้อขายในท้องตลาดในจังหวัดกรุงเทพฯ มาถวายทรงปล่อย สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก คนโทษที่ต้องเวรจำอยู่นั้นก็ปล่อยออกสิ้น เว้นแต่พม่าข้าศึก บรรดาประชาราษฎรทั้งปวง มีรับสั่งให้ประกาศห้ามมิให้ไปฆ่าสัตวตัดชีวิตรให้อยู่แต่บ้านเรือน ต่อเมื่อมีการร้อนจำจะต้องไปจึงให้ไป. . .”

มาตรการที่ออกมานั้นสอดคล้องกับหลักการป้องกันอหิวาตกโรคตามหลักการแพทย์สมัยใหม่ เพราะหัวใจของการป้องกันโรคนี้คือการแยกผู้ป่วยออกมา ลดความแออัดลง ลดการเคลื่อนที่ของคนอันเป็นที่มาของการแพร่โรค ทั้งในกรมที่ไพร่พลสังกัดอยู่ไปจนถึงในคุก ข้าราชการก็ไม่ต้องมาเข้าเฝ้าฯ อีกทั้งยังพระราชทานเงินให้อีกด้วย

อหิวาตกโรคระบาดในพระนครได้ 15 วัน ก็เริ่มทุเลา พระราชพงศาวดารให้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตในพระนครและหัวเมืองใกล้เคียงอยู่ที่ราวสามหมื่นคน และแยกสถิติด้วยว่าผู้หญิงตายมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วน 2 ใน 3 จำนวนผู้เสียชีวิตสามหมื่นคนนี้ ถ้าคำนวณจากจำนวนประชากรในพระนครสมัยก่อน ซึ่งเซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยประมาณไว้ที่สามแสนคน จะอยู่ที่ราวร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรในพระนคร

ถ้าเราพิจารณาความในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน จะพบว่าพระราชพิธีอาพาธพินาศที่จัดขึ้นนั้น “. . .ไม่เป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง คนทั้งปวงถือว่าการที่ทําพิธีนั้น เหมือนไปยั่วไปผัดล่อให้ผีมีความโกรธคิดเอาชนะมากไป. . .” เพราะคนทั้งปวงเห็นว่าโรคไม่ได้ระงับลงเท่าใดนักจากการทำพระราชพิธีอาพาธพินาศ เหตุนี้แม้ภายหลังจะมีโรคระบาดอีก แต่ก็ไม่ได้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศอีกต่อไป

แต่กลับกัน จากข้อมูลที่มีอยู่ เชื่อได้ว่าการควบคุมโรคครั้งนั้นได้ผลจนโรคระงับไปภายใน 15 วัน เพราะมาตรการที่ประกาศให้ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และราษฎรทั้งหลายปฏิบัติในคราวทำพระราชพิธีอาพาธพินาศนั้น ไม่ต่างอะไรกับการ “ล็อกดาวน์” พระนคร นอกจากลดความแออัดในพื้นที่แออัดอย่างพระบรมมหาราชวังและราชการส่วนกลาง ทั้งงดการเข้าเฝ้าฯ ในเรื่องไม่จำเป็น ให้ไพร่พลกลับบ้านตามใจสมัคร ปล่อยนักโทษแล้ว ยังทรงให้คนทั้งหลายรักษาศีลอยู่กับบ้าน ไม่ให้ออกจากบ้าน เว้นแต่มีการร้อนการด่วน เพราะการออกจากบ้านแต่ละครั้งก็เพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้ออหิวาตกโรค ยิ่งคนแต่ก่อนใช้ชีวิตกับแม่น้ำลำคลองก็ยิ่งเสี่ยงเข้าไปใหญ่ จะเห็นได้ว่าแม้สมัยนั้นจะยังไม่มีคำอธิบายเรื่องเชื้อโรค แต่ก็สะท้อนว่าคนแต่ก่อนน่าจะเข้าใจได้ว่าการอยู่บ้าน ลดความแออัดลง จะเป็นการหยุดเชื้อได้ โดยใช้เหตุผลทางพุทธศาสนามาอธิบาย ซึ่งนอกจากจะจูงใจให้คนปฏิบัติตามแล้ว ยังช่วยให้จิตใจของผู้คนที่เต็มไปด้วยความหดหู่ยามนั้นสงบลงได้ เมื่อผู้คนหยุดเคลื่อนไหว ไม่ออกไปรับเชื้อจากภายนอก การแพร่เชื้อก็ลดลงจนทุเลาไปใน 15 วัน

สรุป
เหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ.2363 ถือเป็นวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย จึงอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลังสืบมา โดยเฉพาะการจัดพระราชพิธีอาพาธพินาศที่ถึงกับอัญเชิญพระแก้วมรกตออกแห่รอบพระนคร เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อปลุกขวัญและกำลังใจของชาวพระนครให้กลับมา ตลอดจนการออกมาตรการต่าง ๆ ให้เจ้านาย ข้าราชการ และราษฎรปฏิบัติตาม สะท้อนถึงความพยายามของทางราชการ และความร่วมมือร่วมใจของแต่ละภาคส่วนในการควบคุมโรคตามภูมิปัญญาและกุศโลบายที่มีอยู่ แม้องค์ความรู้สาธารณสุขสมัยนั้นจะยังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบันก็ตาม จนในที่สุดทางการก็สามารถควบคุมโรคระบาดได้ในที่สุด

บรรณานุกรม
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2396-2453. พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ใน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ :ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2560.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2405-2486. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระ
ราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ :ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2562.



กำลังโหลดความคิดเห็น