xs
xsm
sm
md
lg

เดินเล่นเมืองเก่าภูเก็ต ชมตึกสวยสไตล์ชิโนยูโรเปียน ต้อนรับการเปิดเมืองภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใกล้ถึงเวลาเปิดเมืองเต็มที สำหรับ "ภูเก็ตแซนด์บอกซ์" แผนการเปิดรับการท่องเที่ยวต่างชาติ นำร่องที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อ "ภูเก็ตแซนด์บอกซ์" (Phuket Sandbox) โดยจะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

นอกจากหาดทรายสวยและทะเลงามอันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ตก็คือ "ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ต และเป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะเวียนมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมอยู่เสมอ ดังนั้นในวันนี้จึงจะขอพาชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อเป็นการต้อนรับการเปิด "ภูเก็ตแซนด์บอกซ์" ที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้กัน

อาคารสองชั้นสไตล์จีนผสมยุโรป
ความโดดเด่นของย่านเมืองเก่าภูเก็ตนั้นอยู่ที่ตัวอาคารและสถาปัตยกรรมที่หลายคนมักเรียกว่า "ชิโนโปรตุกีส" ซึ่งในปัจจุบันมีหลายกระแสที่ถกเถียงถึงคำเรียกที่ถูกต้องว่าควรเป็น “ชิโนยูโรเปียน” มากกว่า โดยคำว่า “ชิโน” หมายถึงจีน และคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง โปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวตะวันตกชาติแรกๆ ที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำว่าชิโนโปรตุกีสนี้ใช้เรียกอาคารที่มีเอกลักษณ์ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลหลักมาจากปีนัง เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปและจีน ไม่ได้มีความเป็นโปรตุเกสที่เด่นชัด อีกทั้งสถาปัตยกรรมดังกล่าวภายหลังได้รับอิทธิพลของอังกฤษและดัตช์เข้ามาผสมด้วยในยุคหลัง ดังนั้นนักวิชาการหลายคนจึงเรียกอาคารสถาปัตยกรรมในเมืองเก่าภูเก็ตนี้ว่า “ชิโนยูโรเปียน” ซึ่งจะสามารถอธิบายถึงอัตลักษณ์ได้ชัดเจนและครอบคลุมกว่า

อาคารที่ถูกปรับปรุงทาสีสันสดใส
ว่ากันด้วยเรื่องคำเรียกไปแล้ว คราวนี้มาทราบถึงที่มาและชมความงดงามของอาคารในสไตล์ชิโนยูโรเปียนกันบ้างดีกว่า โดยในอดีตนั้น ภูเก็ตเต็มไปด้วยทรัพยากรแร่ดีบุกที่มีราคาสูง เป็นแหล่งค้าขายดีบุกที่เฟื่องฟูอย่างมาก ในย่านนี้จึงถูกพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งในยุคนั้นมีชาวต่างชาติทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป เข้ามาทำการค้าและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันเมืองท่าอื่นๆ ในแหลมมลายู เช่น ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์

การเข้ามาของชนชาติต่างๆ ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งวัฒนธรรม อาหารการกิน ภาษาพูด รวมไปถึงสถาปัตยกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งอาคารสไตล์ชิโนยูโรเปียนนี้เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในราว พ.ศ.2446 เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป และได้รับความนิยมก่อสร้างขึ้นมามากในยุคที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วง พ.ศ.2444-2456

ทางเดินโค้งหรืออาเขต หรือหง่อคาขี่

สถาปัตยกรรมแบบชิโนยูโรเปียน
อาคารสไตล์ชิโนยูโรเปียนนี้เป็นอาคารที่เกิดจากความผสมผสานระหว่างโครงสร้างแบบยุโรป และความอ่อนช้อยแบบจีน ลักษณะอาคารที่มักพบก็คือตึก 2-3 ชั้น หน้าแคบแต่มีความลึก โดดเด่นด้วยซุ้มประตูโค้งด้านหน้า งดงามด้วยลวดลายประดับที่ผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรม โดยบางแห่งยังนำลวดลายศิลปะแบบกรีก-โรมันมาใช้ เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีน บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน

อาคารเหล่านี้มักเป็นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย ด้านหน้าจะเป็นร้านค้า ส่วนด้านหลังที่ลึกเข้ามาจะเป็นส่วนพักอาศัย ด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้งต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อเป็นทางเดินเท้าที่กันแดดกันฝนให้กับคนทั่วไปได้ ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "อาเขต" หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า "หง่อคาขี่" ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต

ปัจจุบันตึกเก่าสุดคลาสสิกเหล่านี้ถูกปรับปรุงตกแต่งให้สวยงาม บ้างปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมถึงที่พักขนาดเล็ก ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ บ้างยังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยเราจะสามารถพบเห็นตึกเหล่านี้อยู่สองข้างทางของย่านเมืองเก่าภูเก็ต อาทิ ถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช ซอยรมณีย์ เป็นต้น

ลวดลายบนบานประตูและหน้าต่างดูสวยงาม

ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือที่พัก
อาคารบางหลังก็มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยจะมีข้อมูลติดให้รู้ไว้ที่ด้านหน้า เช่น “อาคารไชน่า อินน์” ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่าหนึ่งศตวรรษ เดิมเป็นบ้านของคหบดีคนสำคัญของภูเก็ตในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู เคยเปิดเป็นสำนักงานดำเนินกิจการโพยก๊วน (การส่งเงินจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โดยใช้แค่โทรศัพท์สั่งการ อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าของเงิน และร้านค้าที่รับเป็นตัวกลาง เป็นรูปแบบการโอนเงินแบบดั้งเดิม) และรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือจะเป็น “หงวนซุนต๋อง” ร้านขายยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต เป็นที่พึ่งให้ชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเปิดขายยาสมุนไพรอยู่เช่นเดิม

นอกจากอาคารเก่าแก่สวยงามที่สามารถเดินเล่นถ่ายรูปได้อย่างเพลิดเพลินแล้ว ในบริเวณนี้ยังมีภาพสตรีทอาร์ตสวยๆ ให้เดินชมกันได้ด้วยเช่นกัน โดยมีภาพวาดสตรีทอาร์ตถึง 19 ภาพ ตามจุดต่างๆ ในย่านเมืองเก่า ทั้งบนถนนพังงา ที่มีภาพวาดอยู่ติดๆ กัน 8 ภาพ ส่วนภาพอื่นๆ กระจายกันอยู่บนถนนกระบี่ ถนนถลาง ถนนดีบุก ซอยรมณีย์ เป็นต้น

สตรีทอาร์ตมีให้ชมในย่านเมืองเก่า

ภาพวาดสตรีทอาร์ตน่ารักๆ
คนที่รักการถ่ายภาพรับรองว่าต้องชอบการมาเที่ยวในย่านเมืองเก่า เพราะเป็นย่านที่มีสีสัน ถ่ายภาพคู่กับตึกรามบ้านช่องสไตล์ชิโนยูโรเปียนก็สวย ถ่ายคู่กับภาพวาดสตรีทอาร์ตก็โพสต์ท่าได้สนุกสนาน แถมยังมีร้านอาหารท้องถิ่นให้บริการ คาเฟ่เก๋ๆ ก็มากมาย ซึ่งภายหลังจากการเปิดเมืองภูเก็ตแล้วก็หวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดกระเตื้องขึ้น และหวังว่าภูเก็ตจะกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ก็ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA PLUS หรือ Amazing
Thailand Safety Health Administration Plusที่รับรองว่าสถานประกอบการมีมาตรการทางสุขอนามัยในการควบคุมโรคโควิด-19 อีกทั้งมีพนักงานในสถานประกอบการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้วเกินกว่าร้อยละ 70 นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจึงสามารถมาใช้บริการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตได้อย่างมั่นใจ

#################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น