xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตา! วาฬบรูด้าแม่-ลูก อวดโฉมอีกครั้งที่ อช.หมู่เกาะอ่างทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทส.เผย วาฬบรูด้า 2 แม่ลูกโชว์ตัวอีกครั้งในเขต อช. หมู่เกาะอ่างทอง จนท.แจ้งให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ดังกล่าวได้

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ถึงการพบวาฬบรูด้า 2 แม่-ลูก กลับมาอวดโฉมอีกครั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีข้อความดังนี้


วันที่ 9 มี.ค.64 เวลา 09.05 น. ที่ผ่านมา จากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำหน่วยฯสามเส้า ว่าพบวาฬบรูด้า(Balaenoptera edeni) บริเวณช่องระหว่างเกาะรอกกับเกาะหินแตกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

เบื้องต้นเป็นวาฬบรูด้า 2 ตัว ความยาวลำตัวประมาณ 8 เมตร และ 6 เมตรคาดว่าจะเป็นแม่ลูกคู่เดิมที่ได้บันทึกข้อมูลไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประมงพื้นบ้านในพื้นที่และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือหรือกระทำการใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ดังกล่าวได้


สำหรับวาฬบรูด้าแม่-ลูกคู่นี้ คาดว่าคือ “แม่วันดี” กับ ”เจ้าวันหยุด” (ลูกตัวที่ 3) ซึ่งสังเกตได้จากการเปรียบเทียบอัตลักษณ์โดยเฉพาะลักษณะครีบหลัง

ปกติวาฬบรูด้าส่วนใหญ่จะออกหากินอยู่บริเวณทะเลอ่าวไทยตอนบนแถบ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้พบวาฬบรูด้า ที่ อช. หมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าระบบนิเวศทางทะเลของพื้นที่ อช.หมู่เกาะอ่างทองว่ามีความอุดมสมบูรณ์


“วาฬบรูด้า” วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล ลักษณะรูปร่างเหมือนปลา คนจึงมักเรียกติดปากว่า “ปลาวาฬ” ในประเทศไทยสำรวจพบวาฬทั้งหมด 25 ชนิด พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และสำหรับ “วาฬบรูด้า” ถือเป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรอง (Baleen Plates) สำหรับกรองอาหาร อีกทั้งยังเป็นวาฬกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง มีขนาดใหญ่


วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 ของไทย สามารถพบเห็นได้ในอ่าวไทยหรืออ่าวตัว ก. คืออ่าวไทยตอนบน กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปถึงชลบุรี โดยในช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม น้ำจืดจากแม่น้ำจะนำเอาธาตุอาหารต่างๆ ไหลลงทะเลและตกตะกอนเป็นหาดเลน แล้วพวกฝูงปลากะตักและปลาทู รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมากก็จะเข้ามากินแพลงก์ตอนที่อ่าวไทยใกล้ชายฝั่ง และวาฬบรูด้าก็จะตามมากินปลาเหล่านี้อีกที ทำให้ในช่วงนี้เราจึงพบวาฬบรูด้าใกล้อยู่ชายฝั่ง บางทีห่างจากฝั่งไปแค่ 1-2 ก.ม.



#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline




กำลังโหลดความคิดเห็น