ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล สำหรับค่ำคืนวันที่ 13 ธ.ค. 63 ต่อไปจนถึงรุ่งเช้า (หลังเที่ยงคืน 13) ของวันที่ 14 ธ.ค. 63 เนื่องจากบนฟากฟ้าบ้านเราจะเกิด “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หนึ่งในปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งปี ที่มีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยราว 120 ดวง/ชั่วโมง และบางชั่วโมงอาจพีคสุดถึงราว 150 ดวง/ชั่วโมงเลยทีเดียว
รู้จักฝนดาวตกเจมินิดส์
“ฝนดาวตก” เป็นปรากฏการณ์แตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่ว ๆ ไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า “จุดศูนย์กลางการกระจาย” (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น
สำหรับ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids) หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นฝนดาวตกชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้เป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหิน และเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball)
ฝนดาวตกเจมินิดส์ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1862 ด้วยอัตราดาวตกประมาณ 10 - 20 ดวง/ชั่วโมงก่อนที่จะมากขึ้นในปัจจุบัน ฝนดาวตกเจมินิดส์จึงถือว่าเป็นฝนดาวตกน้องใหม่เมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์และฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่มีบันทึกถึงการปรากฏของฝนดาวตกเหล่านี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 36 และ ค.ศ. 902 ตามลำดับ
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นหนึ่งในฝนดาวตกชุดที่น่าดูที่สุด เนื่องจากมีอัตราเร็วค่อนข้างช้า (หากเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น) โดยมีอัตราเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/วินาที อีกทั้งยังสังเกตได้ง่าย แถมยังมีอัตราดาวตกที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี
ปกติฝนดาวตกชุดนี้จะปรากฏให้เห็นประมาณวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี แต่ปีนี้มีความพิเศษตรงที่คาดการณ์ว่าในค่ำคืนรอยต่อของวันที่ 13 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 20.30 น. ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธ.ค. 63 จะมีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง บางชั่วโมงอาจมีอัตราดาวตกสูงสุดถึงราว 150 ดวงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ที่สำคัญคือเราสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า (ในท้องฟ้าที่มืดสนิท) ได้อย่างไม่ยากเย็น
ข้อแนะนำในการดูฝนดาวตก
ช่วงเวลาที่เหมาะในการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์จะเริ่มประมาณตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป โดยในช่วงหลังเที่ยงคืนดาวตกจะมีอัตราการตกมากที่สุด เนื่องจากเวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่งจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่าจนมีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น
ขณะที่อุปกรณ์ที่ควรเตรียมเพื่อนอนดูฝนดาวตกประกอบด้วยเก้าอี้เอน เสื่อ เสื้อกันหนาว หรือผ้าห่ม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ให้ความอบอุ่น เนื่องจากช่วงนี้เมืองไทยเป็นฤดูหนาว และสถานที่ชมฝนดาวตกเป็นที่โล่งอาจมีลมแรงในหลายพื้นที่
การชมฝนดาวตกนั้น หากอยากมองเห็นท้องฟ้าแบบเต็มตาให้นอนรอชม โดยหันเท้าไปทางทิศใต้แล้วพยายามมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้าง ไม่ควรมองเพ่งไปที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า
เมื่อเริ่มนอนชมท้องฟ้าในความมืดประมาณ 30 นาทีแล้ว ดวงตาของเราจะปรับให้เข้ากับความมืด จากนั้นก็อดใจรอจนกว่าจะเริ่มเห็นดาวตก ย้ำว่าควรมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้างเข้าไว้ ดาวตกบางลูกอาจปรากฏกลางมุมมองของคุณ หรือส่วนหนึ่งอาจปรากฏบริเวณใกล้ขอบมุมมองสายตา
ปักหมุด 10 จุดไฮไลท์ชวนชมฝนดาวตก
สถานที่ชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่โล่งแจ้งที่มองเห็นท้องฟ้ามืดมิด (ดีที่สุด) หรือที่ที่มีแสงไฟรบกวนน้อย ดังนั้นจึงควรเป็นในป่า บนเขา บนดอยที่โล่งแจ้ง หรือที่มืดมิดห่างไกลจากเมืองหรือแสงไฟตามถนน ซึ่งเราสามารถดูฝนดาวตกได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ แนะนำให้นอนชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า
และนี่ก็คือ 10 จุดชมฝนดาวตกแนะนำ ซึ่งเป็นลานกางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ที่เดินทางเข้าถึงไม่ยาก แต่ว่ามีบรรยากาศดี มีวิวทิวทัศน์สวยงามและสิ่งน่าสนใจหลากหลาย ซึ่งในยามปกติก็เป็นสถานที่กางเต็นท์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกันอยู่แล้ว
1.ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน : สามารถชมดาวได้แบบเสมอดาว ตื่นเช้ามามีทะเลหมอกให้ชมอย่างสวยงาม เพียงแค่เดินจากจุดกางเต็นท์ไม่กี่สิบเมตร
2.แก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี : ลานกางเต็นท์ใกล้กรุงฯ ในบรรยากาศแคมป์ปิ้งนอนดูดาว ริมอ่างเก็บน้ำอันสุดแสนโรแมนติก (ปีนี้ อช.แก่งกระจานปิดเส้นทางขึ้นไปดูทะเลหมอกที่เขาพะเนินทุ่ง)
3.ช่องเย็น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร : ลานกางเต็นท์ดูดาวในบรรยากาศสุดฟิน เพราะเป็นเป็นช่องเขาที่มีลมพัดผ่านตลอดทั้งปี ที่นอกจากจะมีวิสพระอาทิตย์ตกสวยงามแล้ว ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในแหล่งดูนกชั้นเยี่ยมของเมืองไทยอีกด้วย
4.ลานนับดาว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ : ที่นอกจากจะมีลานกว้างให้กางเต็นท์ดูดาวแล้ว ช่วงเช้ายังมี “ทะเลหมอกผามออีแดง” ทะเลหมอกสองแผ่นดิน (ไทย-กัมพูชา) ให้ชมกันแบบจุใจ
5.ผาเก็บตะวัน อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา-ปราจีนบุรี : เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ในยามค่ำคืน มีระเบียงชมวิว ลานสนามหญ้าให้ดูดาวกันแบบพาโนรามา
6.ป้อมปี่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี : จุดกางเต็นท์มาแรงในบรรยากาศโรแมนติกริมเขื่อนเขาแหลม เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีวิวทิวทัศน์ของพระอาทิตย์ตกผ่านน้ำที่สวยงามมาก ยามค่ำคืนก็จะได้นอนชมดาวกลางทุ่งหญ้าริมน้ำกันอย่างสุดฟิน
7.ผาชะนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี : อช.ผาแต้ม ปรับปรุงเส้นทางใหม่สู่บนหน้าผาชะนะได เป็นทางลาดยางสะดวกสบาย บนนั้นมีลานหินกว้างใหญ่โล่งกว้างให้แคมป์ปิ้งกางเต็นท์นอนดูดาว พอเช้ามืดมาก็เดินไปอีกประมาณ 700 เมตรที่จุดชมวิวผาชะนะได ริมฝั่งโขงเพื่อรับชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม
8.ทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.เพชรบูรณ์-พิษณุโลก : ลานกางเต็นท์ในบรรยากาศทุ่งหญ้าป่าสน มีลานโล่งให้ชมดาว หรือจะหาฉากเป็นทิวสนให้ถ่ายรูปก็สวยงาม ที่สำคัญคือทุ่งแสลงหลวงยังเป็นจุดกางเต็นท์นอนดูดาวในบรรยากาศทุ่งโล่งกว้างของหญ้าสะวันนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย
9.เขาแหลมหญ้า อุทยานแห่งชาติเขาเเหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง : จุดกางเต็นท์แคมป์ปิ้งริมทะเลนอนฟังเสียงคลื่น ชมวิวเกาะเสม็ด มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสวยงาม โดยมีด้านหนึ่งเปิดโล่งสามารถดูดาวตกริมทะเลได้อย่างสวยงาม (แต่ว่าอาจมีแสงรบกวนบ้าง)
10.กิ่วลม อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ : ยอดดอยผ้าห่มปก (หรือฟ้าห่มปก) มีความสูงเป็นอันดับ 2 ของเมืองไทย 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ที่นี่มี “จุดกางเต็นท์กิ่วลม” เป็นจุดกางเต็นท์อันสวยงามที่ได้ชื่อว่าเป็น“ลานกางเต็นท์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย” ตั้งอยู่บนระดับความสูง 1,924 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งจะว่าไปนี่คือจุดดูดาวที่ใกล้ฟากฟ้ามากที่สุดของเมืองไทยก็ว่าได้
นอกจาก 10 จุดกางเต็นท์ดูดาวบรรยากาศสุดฟินในอุทยานแห่งชาติแล้ว ทาง NARIT “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” หรือ สดร. หรือ NARIT ยังได้ จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ในค่ำคืนวันที่ 13 - รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17:00 - 05:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 3 แห่ง ดังนี้
เชียงใหม่ : NARIT ร่วมกับเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จัดกิจกรรม “โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว ฝนดาวตกเจมินิดส์” ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต. ออนใต้ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ ใช้พื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยลานที่ค่อนข้างมืด ปราศจากแสงไฟรบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ แนะนำการดูดาวเบื้องต้นและเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตก ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ และนอนนับฝนดาวตกตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า (โทร. 081-8854353)
นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา (โทร. 044-216-254)
ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทราต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (โทร. 038-589-395)
และนี่ก็คืออีกหนึ่งวันนี้ที่รอคอย สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำคืนวันที่ 13-14 ธ.ค.63 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งปี ที่ยังไง ๆ ก็ขอให้ท้องฟ้าวันนั้นเป็นใจ ฟ้าเปิด อากาศดี และไม่มีฝนตกลงมาทำลายบรรยากาศแต่อย่างใด
################################################
สำหรับผู้สนใจเดี่ยวกับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือเรื่องราวของดวงดาว ฟากฟ้า ดาราศาสตร์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ”
หมายเหตุ : ข้อมูลฝนดาวตกเจมินิดส์ ในบทความอ้างอิงจาก เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ